ปัญหาค่าน้ำค่าไฟหอพักแพง แม้มีการร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังไม่มีหน่วยงานใดสามารถปลดทุกข์แก่พี่น้องประชาชนผู้เช่าหอพักและอพาร์ตเมนต์ได้เสียที ทว่า ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) รับเป็นเจ้าภาพเคลียร์ เตรียมออกประกาศคุมค่าน้ำไฟหอพัก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561
ที่สำคัญคือ หากฝ่าฝืนโทษหนัก จำคุก 1 ปี และปรับ 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับกันเลยทีเดียว
กล่าวสำหรับความเดือดร้อนกรณีถูกเจ้าของห้องพักและหอพักเอาเปรียบคิดราคาค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง หากเปรียบเทียบราคากับบ้านเรือนธรรมดาทั่วๆ ไป กลุ่มผู้เช่าต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟในอัตราสูงกว่า 1-2 เท่า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้เช่าต้องเผชิญเป็นประจำทุกเดือน ไม่เพียงแบกรับภาระค่าเช่า ยังตกอยู่ในภาวะจำยอมถูกเรียกเก็บบิลค่าน้ำค่าไฟสูงปรี๊ด ส่วนทางผู้ประกอบการหอพักก็ร้องขอความเห็นใจ อธิบายถึงต้นทุนที่ต้องแบกรับเช่นเดียวกัน ทั้งเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย เช่น รปภ. กล้องวงจรปิด หรือ ค่าไฟฟ้าส่วนกลาง เป็นต้น กอปรกับไม่ได้ตั้งราคาค่าเช่าห้องแพง จึงมีความจำเป็นต้องบวกเพิ่มจากราคาค่าน้ำค่าไฟแทนนั่นเอง
ทั้งนี้ ตามข้อมูลเปิดเผย อัตราค่าน้ำค่าไฟห้องเช่าและอพาร์ตเมนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยดังนี้ อัตราค่าไฟประมาณ 6 – 9 บาทต่อหน่วย ส่วนอัตราค่าน้ำประมาณ 15 – 20 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ลดหลั่นไปตามทำเลที่ตั้ง สาธารณูปโภคต่างๆ หรือตามดุลพินิจของผู้ประกอบการแห่งนั้นๆ
โดยรูปแบบการจ่ายไฟ ในส่วนของห้องเช่าและอพาร์ตเมนต์ ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของเดียวและมีผู้เช่ารายอื่นมาเช่าอาศัยอยู่ จึงมีการติดมิเตอร์ลูกเดียวทั้งอาคาร โดยทางเจ้าของจะไปติดมิเตอร์เองและเรียกเก็บจากผู้เช่าตามอัตราที่เขียนไว้ในสัญญา
เป็นเรื่องของการตกลงกันว่ายอมรับดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าแต่แรก ซึ่งหลักเกณฑ์นั้นขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าคิดต้นทุนอย่างไร เพราะห้องพักและอพาร์ตเมนต์ไม่มีการเก็บค่าส่วนกลาง และทรัพย์สินยังเป็นของเจ้าของอาคาร กลายๆ ว่าค่าไฟที่เพิ่มขึ้นถือเป็นค่าส่วนกลาง ซึ่งหากมีการเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟเกินกว่าอัตราที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้เช่าสามารถฟ้องร้องได้
ต่างจากรูปแบบการจ่ายไฟของคอนโดมิเนียม ซึ่งมีเจ้าของห้องหลายคน ซึ่งเจ้าของห้องซื้อห้องมาจากโครงการที่เปิดให้เช่าโดยมีสัญญาเช่าแตกต่างกันในแต่ละห้อง คอนโดฯ จะติดมิเตอร์ไฟฟ้ารวมตัวใหญ่คำนวณตามภาระที่มีอยู่ และติดมิเตอร์รองให้แก่ห้องพักแต่ละห้อง คิดอัตราไฟฟ้าที่เป็นมาตรฐานจดหน่วยออกบิลตามอัตราที่การไฟฟ้าฯ ประกาศ แต่จำเป็นต้องจัดเก็บค่าส่วนกลาง
ส่วนการจัดเก็บค่าน้ำ การประปาฯ ออกมาเปิดเผยว่า หอพัก อพาร์ตเมนต์ และคอนโดฯ ถือเป็นมิเตอร์หนึ่งที่ขอใช้น้ำโดยมีนิติบุคคล นั้นๆ ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารจัดการและเรียกเก็บเงินค่าน้ำจากลูกบ้านของตน โดยมีการคำนวณในเรื่องค่าไฟฟ้าเครื่องสูบน้ำ ระบบการสำรองน้ำ เป็นต้น
กล่าวคือที่ผ่านมาไม่มีกรอบควบคุมราคาค่าน้ำค่าไฟหอพักและอพาร์ตเมนต์ เพียงแค่บังคับให้แสดงราคาเท่านั้น ตามประกาศ สคบ. เรื่องธุรกิจให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเก็บเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2549
ทว่า ควบคุมเฉพาะประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องแจ้งแสดงรายการค่าเช่าค่าบริการ ไม่ได้ระบุถึงอัตราที่เกินกว่าความเหมาะสมว่าอยู่ที่เท่าไร ซึ่งกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มาตรา 29 ระบุไว้ว่า หากกำหนดราคาโดยสูงไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีความผิดตามกฎหมาย โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สถานการณ์ดังกล่าว เป็นปัญหาที่ถูกร้องเรียนจากผู้เช่าพักอาศัยจำนวนมาก อ้างอิงสถิติ สคบ. เรื่องร้องเรียนการใช้บริการเช่าที่พักอาศัยระหว่างปี 2555 – 2558 ได้รับการร้องเรียน ดังนี้
อันดับ 1 ไม่คืนเงินประกันความเสียหายหรือค่าเช่าล่วงหน้า
อันดับ 2 คิดอัตราค่าบริการไฟฟ้า-ประปา สูงเกินจริง
อันดับ 3 ไม่เป็นไปตามสัญญาหรือโฆษณา
กระทั่งล่าสุด ถือเป็นข่าวดีต้อนรับปีจอ สุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้บริการเช่าที่พักอาศัย
กล่าวคือ กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการเช่า เช่น เขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้ให้เช่าและผู้เช่า กำหนดระยะเวลาในการเช่า ทรัพย์สินและอุปกรณ์ที่ให้เช่า อัตราค่าบริการต่างๆ ทั้ง ค่าน้ำประปา ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ รวมถึงวิธีการชำระค่าบริการ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไงการเรียกเก็บค่าเช่า และบริการต่างๆ ให้ชัดเจน
สาระสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาผู้ประกอบการเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟจากผู้เช่าสูงเกินจริง และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เช่า โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษา คนทำงาน และครอบครัวทั่วไป กำหนดให้ผู้ประกอบการหอพักต้องเก็บไม่สูงกว่าอัตราที่การไฟฟ้าฯ หรือ การประปาฯ จัดเก็บไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ และห้ามเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าเช่า รวมทั้ง ห้ามเรียกเก็บเงินค่าต่อสัญญาจากผู้เช่ารายเดิมด้วย หากผู้ประกอบรายใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 1 ปี หรือ ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ สคบ. จะออกประกาศในเดือน ก.พ. 2561 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน หรือ ประมาณเดือน พ.ค. 2561 อนึ่ง ผู้ประกอบการต้องยกเลิกสัญญาฉบับเก่าที่ทำไว้กับผู้เช่าทั้งหมด และให้ผู้เช่าทำสัญญาใหม่ตามประกาศดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนของประชาชนผู้เช่าหอพัก มีการร้องเรียนด้วยกันหลายประเด็นดังที่กล่าวในข้างต้น หลายเรื่องร้องเรียนเจรจาไกล่เกลี่ยปรับลดราคา แต่ยังมีอีกหลายต่อหลายกรณีที่ผู้บริโภคยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกหอพักและอพาร์ตเมนต์จำนวนไม่น้อยเรียกค่าน้ำค่าไฟราคาสูงอย่างไม่ปราณีผู้เช่า
สำหรับประกาศคุมค่าน้ำไฟหอพักที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน พ.ค. 2561 ผู้เช่าเตรียมฉีกสัญญาเก่านับถอยหลังรอเซ็นต์สัญญาใหม่กันได้เลย ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟแพงเกินจริง ผู้เช่าสามารถร้องเรียนผ่านทาง สคบ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ย้ำอีกครั้งว่า หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี หรือ ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ!
ข่าวจาก : ผู้จัดการออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ