แฟนๆ “ออเจ้า” ไม่ควรพลาด!! เปิดวาร์ป “ตัวละคร” ในเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่มีตัวตนอยู่จริงๆในประวัติศาสตร์ไทย!!(ชมภาพ)





ถ้าใครได้ชมละครพีเรียดย้อนยุค "บุพเพสันนิวาส" เชื่อว่าต้องรู้สึกคุ้นหูกับชื่อตัวละครบางตัวเป็นแน่แท้ เพราะเคยได้ยินชื่อมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม และยิ่งเห็นแม่หญิงการะเกดทำท่าทางดีอกดีใจเมื่อได้เจอบุคคลเหล่านั้น ก็ยิ่งชวนให้คนดูอยากรู้ตามไปด้วยว่า บุคคลเหล่านั้นมีความสำคัญอย่างไรในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

กระปุกดอทคอม จึงอยากพาแฟนละครทุกคนย้อนกลับไปในแผ่นดินสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อรู้จักกับตัวละครในละครบุพเพสันนิวาสที่มีตัวตนจริง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น และยังช่วยให้ชมละครได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้นด้วย

ขุนศรีวิสารวาจา หรือ หมื่นสุนทรเทวา : คณะทูตที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศสพ่อเดช หรือพี่หมื่นของแม่การะเกด พระเอกของเรื่องที่รับบทโดย โป๊ป ธนวรรธน์ คือบุคคลหนึ่งที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยเป็นบุตรชายของออกญาโหราธิบดี หรือพระโหราธิบดี พระราชครูของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพี่ชายคือ ศรีปราชญ์ กวีเอกคนสำคัญของไทย ซึ่งในละครช่วงแรก ๆ เราจะยังไม่ได้เห็นศรีปราชญ์ เพราะตามท้องเรื่อง ศรีปราชญ์ได้ถูกเนรเทศไปยังเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว



หมื่นสุนทรเทวา ภายหลังได้อวยยศเป็นขุนศรีวิสารวาจา ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2229 จะได้รับเลือกให้เป็นตรีทูต 1 ใน 3 ของคณะทูตจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส 

ออกญาโหราธิบดี หรือ พระโหราธิบดี : ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณี แบบเรียนเล่มแรกของไทย

พ่อของพระเอกอย่างออกญาโหราธิบดี ที่รับบทโดยนักแสดงรุ่นใหญ่ หนิง นิรุตติ์ เป็นพระมหาราชครูของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นบุคคลสำคัญของวงการแต่งหนังสือเลยทีเดียว เพราะท่านเป็นผู้ประพันธ์หนังสือ "จินดามณี" เมื่อปี พ.ศ. 2215 ซึ่งถือเป็นหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทยที่มีเนื้อหาครอบคลุมสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ จึงกลายมาเป็นต้นแบบของแบบเรียนในปัจจุบัน และยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของแบบเรียนไทย ทำให้หนังสือแบบเรียนไทยในยุคต่อมาหลายเล่มใช้ชื่อตามว่า "จินดามณี" อาทิ จินดามณีฉบับความแปลก จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ฯลฯ

ทั้งนี้ พระโหราธิบดี เป็นผู้ที่ทำนายทายทักได้อย่างแม่นยำ โดยเคยทายจำนวนหนู (สัตว์) ที่พระเจ้าปราสาททองครอบไว้อย่างถูกต้อง และเคยทายว่าไฟจะไหม้ในพระราชวังในสามวัน พระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อจึงเสด็จพระราชดำเนินไปอยู่นอกวัง ต่อมาได้เกิดเหตุฟ้าผ่าถูกหลังคาพระมหาปราสาททำให้เกิดไฟไหม้ลามไปดังคำทำนาย

ศรีปราชญ์ : กวีเอกชื่อดังแห่งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

กวีเอกชื่อดังของไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ในละครรับบทโดย ณฐณพ ชื่นหิรัญ) เป็นบุตรของพระโหราธิบดี และเป็นพี่ชายของขุนศรีวิสารวาจา มีความเชี่ยวชาญด้านโคลง กลอน มาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยเคยต่อโคลงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เป็นที่ถูกพระราชหฤทัยตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ภายหลังจึงได้เข้ารับราชการ

แต่เพราะความสามารถที่เก่งกาจเกินหน้าเกินตา ทำให้มีคนคิดปองร้าย ใส่ร้ายศรีปราชญ์ จึงถูกสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเนรเทศไปยังเมืองนครศรีธรรมราชแทนการประหาร เนื่องด้วยพระโหราธิบดีเคยขอชีวิตไว้ตั้งแต่ก่อนศรีปราชญ์เข้ารับราชการ เนื่องจากล่วงรู้ดวงชะตาว่าหากศรีปราชญ์เข้ารับราชการเมื่อไร จะยิ่งมีอายุสั้น

อย่างไรก็ดี ที่นครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ก็ยังได้แสดงทักษะด้านกวีให้เป็นที่ประจักษ์ และเป็นที่พอใจของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จึงทำให้มีคนไม่พอใจศรีปราชญ์อีกเช่นกัน แต่คราวนี้ได้ใส่ร้ายว่าศรีปราชญ์ลักลอบเป็นชู้กับภริยาของพระยานครศรีธรรมราช จึงต้องโทษประหารชีวิต แต่ก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารนั้น ศรีปราชญ์ได้ขออนุญาตเขียน

 โคลงบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณีว่า

          ธรณีนี่นี้              เป็นพยาน
          เราก็ศิษย์มีอาจารย์  หนึ่งบ้าง
          เราผิดท่านประหาร  เราชอบ
          เราบ่ผิดท่านมล้าง  ดาบนี้คืนสนอง ฯ

 ข่าวการถูกประหารของศรีปราชญ์แพร่ไปถึงพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ จึงทรงพิโรธเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่กระทำโดยพลการ พระองค์จึงรับสั่งให้นำดาบที่ใช้ประหารศรีปราชญ์มาประหารชีวิตเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชให้ตายตกไปตามกันดังคำว่า "ดาบนี้คืนสนอง"

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) : นักรบคู่พระราชหฤทัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) หรือ โกษาเหล็ก (รับบทโดย สุรศักดิ์ ชัยอรรถ) ขุนนางคนสำคัญในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นบุตรชายคนโตของเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านมีความเฉลียวฉลาดและเชี่ยวชาญการรบตามหลักพิชัยสงคราม จึงเป็นแม่ทัพคนสำคัญที่ออกไปรับมือกับพม่าจนได้รับชัยชนะมาหลายครา เปรียบเสมือนเป็นนักรบคู่ใจของสมเด็จพระนารายณ์ จนเรียกกันทั่วไปว่า "ขุนเหล็ก" และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างยิ่ง เปรียบเสมือนพระสหายสนิท หรือพี่น้องแท้ ๆ ของพระองค์ก็มิปาน

ทว่าในช่วงบั้นปลายชีวิต สมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการขึ้นในพระนคร ซึ่งต้องมีการเกณฑ์ผู้คนไปก่อสร้าง แต่บางคนไม่อยากทำงาน จึงนำเงินมาให้พระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ท่านจึงกราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระนารายณ์ว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องสร้างป้อมปราการ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์สั่งเฆี่ยนจนถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2226

ออกพระวิสุทธิสุนทร/เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) : ต้นราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระยาโกษาธิบดี (ปาน) หรือ โกษาปาน (รับบทโดย ชาติชาย งามสรรพ์) ผู้เป็นน้องของพระยาโกษาเหล็ก ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระนารายณ์ไม่แพ้พี่ชายตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งออกพระวิสุทธสุนทร โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชทูตไทยออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2228 และได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซาย นับเป็นราชทูตไทยคนแรกที่ได้เดินทางออกจากแผ่นดินไทยไปสู่แผ่นดินต่างประเทศ

ทั้งนี้ พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นนักการทูตที่สุขุม สง่างาม มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จึงยังเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เช่นกัน การเจริญสัมพันธไมตรีครั้งนั้นได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสแน่นแฟ้นขึ้น และรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา

อย่างไรก็ตาม ในปลายสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ กลุ่มขุนนาง นำโดยพระเพทราชา เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งเศส กระทั่งพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ พระยาโกษาธิบดี (ปาน) ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจากับนายพลฝรั่งเศสที่คุมป้อมอยู่ที่เมืองบางกอกให้ถอนทหารออกไปจากอาณาจักรไทยได้สำเร็จ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี

          ทว่าด้วยความที่เป็นคนซื่อตรง ซื่อสัตย์ต่อสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อท่านเห็นว่าพระเพทราชากระทำการไม่สมควร จึงได้กราบทูลทัดทาน แต่ก็เป็นเหตุให้ต้องพระราชอาญา ถูกริบทรัพย์ ถูกนำตัวเอาไปเฆี่ยนตีและทรมานอยู่บ่อยครั้ง จนในที่สุดก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัยเพียง 40 ปีเท่านั้น และเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายเสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ครอบครัวของท่านก็อพยพกันไปอยู่คนละทิศคนละทาง โดยคุณทองดี หลานปู่ของพระยาโกษาปาน ได้ไปอยู่กับเจ้าพระยาพิษณุโลกก่อนที่ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาจักรีศรีองครักษ์ ซึ่งท่านผู้นี้ก็คือพระราชบิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


สมเด็จพระนารายณ์มหาราช : พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปราสาททอง

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (รับบทโดย ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง) หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นลำดับที่ 4 ของราชวงศ์ปราสาททอง ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับ พระนางศิริธิดา เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ. 2175 ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา เมื่อปี พ.ศ. 2199 ขณะมีพระชนมพรรษา 25 พรรษา

แม้ในรัชสมัยของพระองค์จะมีศึกสงครามอยู่มาก โดยเฉพาะการทำศึกกับเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าหลายแห่ง แต่ก็เป็นยุคที่การค้าและการทูตกับประเทศต่าง ๆ รุ่งเรืองอย่างยิ่ง โดยมีพระราโชบายคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ เพื่อรักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติและรับผลประโยชน์ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามา ดังนั้นในยุคสมัยของพระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้ง

สมเด็จพระนารายณ์ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองละโว้ หรือ ลพบุรี ขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 หรือเป็นเมืองหลวงสำรองไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวฮอลันดาเข้ามาข่มเหงไทยอีก เพราะก่อนหน้านี้ ชาวฮอลันดาเคยส่งเรือรบมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยาและขู่จะยิง ทำให้ไทยต้องยอมทำสัญญายกประโยชน์การค้าให้ตามที่ต้องการ

นอกจากเรื่องการค้า การทูตแล้ว พระองค์ยังสนพระราชหฤทัยเรื่องวรรณกรรม ทำให้รัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่มีกวีเลื่องชื่อหลายคน เช่น พระโหราธิบดี ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณี แบบเรียนเล่มแรกของไทย และตอนหนึ่งของเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ส่วนอีกตอนหนึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์เอง รวมทั้งศรีปราชญ์ บุตรของพระโหราธิบดี ที่มีผลงานชิ้นเอกคือ หนังสือกำสรวลศรีปราชญ์ และอนิรุทธคำฉันท์ ด้วยพระปรีชาสามารถดังที่กล่าวไป พระองค์จึงได้รับการถวายพระเกียรติเป็น "มหาราช"

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ทรงครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมพรรษา 56 พรรษา ทั้งนี้ ไม่ทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติแด่พระอัครมเหสี แต่เป็นที่เล่าลือกันว่าทรงมีพระโอรสลับที่เกิดจากพระสนม

สมเด็จพระเพทราชา : ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง

สมเด็จพระเพทราชา (รับบทโดย ศรุต วิจิตรานนท์) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 28 ของกรุงศรีอยุธยา และเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระสหายที่ถูกเลี้ยงดูควบคู่มากับสมเด็จพระนารายณ์ตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะพระมารดาของพระองค์เป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์ ภายหลังได้รับราชการเป็นจางวางกรมช้าง แต่ด้วยมีความดีความชอบในการทำสงคราม จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระนารายณ์ให้รับใช้ใกล้ชิด จนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระเพทราชา ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระคชบาล ซึ่งมีอำนาจค่อนข้างมากในเวลานั้น ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ประชวร จึงมอบหมายให้พระเพทราชาซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ว่าราชการแทน ระหว่างนั้น พระองค์ได้ลวงพระอนุชา 2 พระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ และพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรม ซึ่งมีสิทธิ์สืบราชสมบัติไปสำเร็จโทษ รวมทั้งสั่งประหารเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ จนเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต สมเด็จพระเพทราชาจึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์แทน พร้อมกับทรงสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวงอันเป็นราชวงศ์ที่ 5 และเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอยุธยา

สมเด็จพระเพทราชาทรงไม่พอพระราชกฤทัยที่มีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากมายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้ขับไล่ทหารฝรั่งเศสให้ออกไปจากกรุงศรีอยุธยา ทำให้ความสัมพันธ์ของกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศสสิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา พระองค์ทรงครองราชย์ได้ 15 ปี ก็เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2246 สิริพระชนมพรรษา 71 พรรษา

 

หลวงสุรสาคร/คอนสแตนติน ฟอลคอน/ออกญาวิชเยนทร์ : ชาวตะวันตกคนแรกที่รับราชการในกรุงศรีอยุธยา หลวงสุรสาคร (รับบทโดย หลุยส์ สก๊อตต์) เดิมเป็นพ่อค้าชาวกรีกและเวนิสที่ทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ กระทั่งล่องเรือสินค้ามายังกรุงศรีอยุธยา มีความสามารถพูดได้หลายภาษา และได้เรียนรู้ภาษาไทยจนคล่องแคล่ว จึงมีโอกาสเข้ารับราชการเป็นล่ามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้เข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา

ด้วยเพราะเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสมุหเสนา ออกญาวิชเยนทร์ ซึ่งก็สร้างความไม่พอพระทัยให้พระเพทราชาที่มีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติอยู่แล้ว จนเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประชวร พระเพทราชาจึงใช้ข้ออ้างที่ว่าออกญาวิชเยนทร์ต้องการใช้องค์รัชทายาทเป็นหุ่นเชิดเข้ามาปกครองกรุงศรีอยุธยาเสียเอง จับตัวออกญาวิชเยนทร์ไปประหารชีวิต แม้สมเด็จพระนารายณ์จะกริ้วก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะประชวรหนัก กระทั่งสวรรคตในเวลาต่อมา

ออกญาวิชเยนทร์ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2231 ในวัย 40 ปี ชีวิตส่วนตัวได้แต่งงานกับมารี กีมาร์ หรือท้าวทองกีบม้า ผู้ประดิษฐ์ขนมไทย มีบุตรด้วยกัน 2 คน

 

มารี กีมาร์/ท้าวทองกีบม้า : ราชินีแห่งขนมไทย  มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา หรือ มารี กีมาร์ หรือ ตองกีมาร์ (รับบทโดย สุษิรา แน่นหนา) เป็นคนเชื้อสายโปรตุเกส เบงกอล และญี่ปุ่น เป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาเป็นอย่างมาก เมื่ออายุ 16 ปี ได้แต่งงานกับคอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางชาวกรีกที่เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเขาก็ได้ยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนเองนับถือ แล้วเปลี่ยนมานับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตามมารีแทน เพื่อแสดงความจริงใจ ทว่าชีวิตสมรสไม่ค่อยราบรื่นนัก เพราะความเจ้าชู้ของฟอลคอนเอง

กระทั่งเข้าสู่ช่วงชีวิตตกอับ เมื่อฟอลคอนถูกประหารชีวิตและถูกริบราชบาตรก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ทำให้มารีกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว และถูกจับขังในโรงม้า ต่อมาถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง มารีพยายามทำทุกวิถีทางที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศสเพื่อขอออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สำเร็จ ซ้ำยังถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ก่อนที่ประวัติของนางจะหายไปช่วงหนึ่ง

 และมาปรากฏชื่ออีกครั้งในอีกหลายปีให้หลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เมื่อมารีได้เป็นพนักงานเครื่องต้นในวัง และได้สอนให้ชาวสยามทำของหวาน เช่น ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ทองม้วน สังขยา หม้อแกง ลูกชุบ ฯลฯ โดยดัดแปลงมาจากอาหารโปรตุเกส มารีได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ จนเป็นที่โปรดปราน และได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสงบในบั้นปลายชีวิต

 สำหรับชื่อท้าวทองกีบม้านั้น ก็มาจากชื่อ ตองกีมาร์ ของนางนั่นเอง

 

หลวงสรศักดิ์/ออกหลวงสรศักดิ์/พระเจ้าเสือ หลวงสรศักดิ์ (รับบทโดย จิรายุ ตันตระกูล) ซึ่งภายหลังได้ขึ้นครองราชย์มีพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์องค์ที่ 29 ของกรุงศรีอยุธยา และพระองค์ที่ 2 ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง เรื่องพระชาติกำเนิดนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยสันนิษฐานกันว่า พระองค์น่าจะเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับพระสนมลับองค์หนึ่ง แต่ภายหลังสมเด็จพระนารายณ์พระราชทานให้พระเพทราชาเลี้ยงดู ต่อมาได้เข้ารับราชการมีตำแหน่งเป็นหลวงสรศักดิ์ และช่วยพระเพทราชาขึ้นมายึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ กระทั่งสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต พระองค์ในตำแหน่งพระมหาอุปราช จึงได้ขึ้นครองราชสมบัติ มีพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8

 สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 มีพระสมัญญานามว่า "เสือ" ตั้งแต่รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะทรงมีพระอุปนิสัยเด็ดขาด ชอบการล่าสัตว์ ผู้คนจึงเปรียบว่าทรงร้ายดังเสือ จึงออกพระนามว่า "พระเจ้าเสือ" ทรงครองราชย์ได้ 5 ปี (พ.ศ. 2246 –2251) จึงเสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมพรรษา 47 พรรษา


หลวงศรียศ/ออกญาจุฬาราชมนตรี (แก้ว)

 หลวงศรียศ (รับบทโดย วิศววิท วงษ์วรรณลภย์) ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซีย มีศักดิ์เป็นหลานตาของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ปฐมจุฬาราชมนตรีคนแรกในสยามและเป็นต้นสกุลบุนนาค เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงศรียศ (แก้ว) ก่อนที่จะรับการแต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีจนถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา

 

พระปีย์ พระปีย์ (รับบทโดย เก่ง ธชย) เป็นพระราชโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (แต่ก็มีการโจษจันว่าอาจเป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์) ด้วยมีร่างกายพิการ หลังค่อม สมเด็จพระนารายณ์จึงเรียกว่า อ้ายเตี้ย และเป็นที่โปรดปราน เพราะพระปีย์พูดจาไพเราะอ่อนหวาน มีสำนวนโวหารดี แต่พระปีย์มักตกเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่สนับสนุนให้พระปีย์เป็นรัชทายาท เนื่องจากพระปีย์ได้เข้ารีตเป็นคริสเตียนและดูเป็นคนไม่มีพิษมีภัย หรือครั้งที่แขกมักกะสันคิดจะลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ ก็คิดจะเลือกพระปีย์ให้ขึ้นครองราชย์แทน

อย่างไรก็ตาม หลังจากสมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนัก พระปีย์ได้อยู่รับใช้สนองพระยุคลบาท แต่สมุนของหลวงสรศักดิ์ได้ผลักพระปีย์ตกจากหน้าต่าง และถูกพระเพทราชาจับไปสำเร็จโทษ เนื่องจากมองว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์

 ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2557 กรมศิลปากรได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ 2 โครงที่ตรงข้ามวัดสันเปาโล ซึ่งเป็นโบราณสถานสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่สร้างโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส โดยเป็นโครงกระดูกที่ไม่มีกะโหลกศีรษะ โครงหนึ่งเป็นมนุษย์ที่มีความสูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร และกระดูกหน้าแข้งหัก คาดว่าน่าจะเป็นพระปีย์ที่ถูกผลักตกหน้าต่างและถูกตัดศีรษะประหารชีวิต ส่วนอีกโครงหนึ่งเป็นมนุษย์สูงใหญ่ คาดว่าคือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่ถูกตีด้วยท่อนจันทน์และตัดศีรษะ ซึ่งชาวฝรั่งเศสได้นำศพมาฝังไว้ที่โบสถ์ดังกล่าว

ขอบคุณที่มาจาก : เฟซบุ๊ก ชมรมประวัติศาสตร์สยาม 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: