อธิบดีศุลกากรยันไม่ได้เพิ่มความเข้มงวด ตรวจสอบนำของมีค่า โน้ตบุ๊ค นาฬิกา กล้อง เข้า-ออกต่างประเทศ แจงประกาศทั้ง 2 ฉบับเป็นกฎหมายเดิมที่มีการยกเลิก และต้องประกาศออกมาใช้ใหม่เท่านั้น ชาวบ้านไม่ต้องตกใจ
สืบเนื่องจาก กรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากร 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศที่ 59/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติการศุลกากรในการตรวจปล่อยผู้โดยสารและหีบห่อสัมภาระระหว่างสนามบินภายในประเทศ โดยวิธีการ Check Through ซึ่งใช้ในกรณีที่ผู้โดยสารเปลี่ยนเที่ยวบิน หรือโดยเที่ยวบินเดิม ระหว่างสนามบินในประเทศ เพื่อผ่านเข้ามาในหรือออกนอกราชอาณาจักร และ ประกาศที่ 60/2561 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน ซึ่งใช้ในกรณีสัมภาระผู้โดยสารที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับผู้โดยสารให้เป็นไปตามหลักสากล โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวชี้แจงว่า ประกาศ 2 ฉบับดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายใหม่ แต่เป็นการนำกฎหมายฉบับเดิมที่มีการยกเลิกไปก่อนหน้านี้ กลับมาประกาศให้มีผลบังคับใช้อีกครั้ง เนื่องจากเมื่อปลายปีที่แล้ว กรมศุลฯ มีการปฏิรูปกฎหมายศุลกากรครั้งใหญ่ โดยใช้พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ทำให้ประกาศที่มีอยู่ภายใต้กฎหมายเดิมต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย ส่งผลให้ขณะนี้กรมฯต้องทยอยนำประกาศกฎหมายเดิมออกมาประกาศใช้ ให้รองรับพ.ร.บ.ใหม่ที่เพิ่งเริ่มใช้
“ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือกรมจะไปตรวจสอบเข้มงวดกว่าเดิมเลย เช่น การยกเว้นการเสียภาษีให้กับของส่วนตัวที่เจ้าของที่นำเข้ามาไม่เกินคนละ 20,000 บาท สินค้าปลอดภาษี ที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง จะต้องนำออกไปใช้นอกราชอาณาจักรเท่านั้น หากนำกลับเข้ามาก็ต้องเสียภาษี ก็เป็นเรื่องปกติที่เคยทำมากันอยู่แล้ว”
นายกุลิศกล่าวว่า ยืนยันประกาศที่ออกมาเป็นกฎหมายฉบับเดิมที่เคยใช้ โดยกรมไม่ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ หรือเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบของติดตัวผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ดังนั้นขอให้ผู้โดยสารสบายใจว่าการเดินทางออกและเข้าในประเทศยังปฏิบัติได้เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา และไม่ต้องกลัวว่าจะเสียเวลาถูกตรวจสอบในการเข้าออกสนามบินเพิ่มขึ้น เพราะปกติเวลาขาออกเจ้าหน้าที่ศุลกากรก็แทบไม่เคยตรวจสอบอยู่แล้ว ยกเว้นขาเข้าก็อาจมีการสุ่มตรวจบ้าง รวมถึงถ้าใครไม่แน่ใจว่าของที่นำติดตัวมาเป็นประเภทใด เข้าข่ายเสียภาษีหรือไม่ก็ให้ผ่านการตรวจที่ช่องแดงก่อน
ส่วนกรณีที่ระบุว่า การเดินทางออกนอกประเทศ หากนำของมีค่าออกไป เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวีดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ซึ่งมีเครื่องหมาย เลขหมายที่สามารถตรวจสอบได้ ให้แจ้งต่อพนักงานศุลกากรก่อนนั้น เป็นการอำนวยความสะดวกในกรณีผู้โดยสารที่ต้องนำของที่มีมูลค่ามากๆติดตัวออกไปต่างประเทศ ก็ให้ทำหลักฐานแจ้งไว้ก่อนเดินทางออก เพื่อเขากลับมาแล้วจะได้ไม่ต้องตรวจซ้ำ หรือถ้าหากถูกสุ่มตรวจจะได้มีหลักฐานยืนยันไว้ว่าเป็นของใช้ตัวเอง ซึ่งเป็นกฎหมายเดิมที่เคยมีอยู่ ซึ่งผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องไปแจ้งทุกคน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ