ครม.อนุมัติงบ 16,474.20 ล้านบาท แจกกระจาย 82,371 หมู่บ้าน แห่งละ 200,000 บาท เผยเงื่อนไข 11 ข้อต้องรู้ก่อนเสนอโครงการรับเงิน
การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 มี.ค. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมมีมติรับทราบการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในคู่มือการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” (หมู่บ้าน/ชุมชนละสองแสนบาท) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
สาระสำคัญคือโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน (เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2561) มีเป้าหมาย 82,371 หมู่บ้าน ชุมชน สนับสนุนงบหมู่บ้าน ชุมชนละไม่เกิน 200,000 บาท เป็นเงิน 16,474.20 ล้านบาท
ทั้งนี้ มท.ได้กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งรัดหรือกำกับหมู่บ้าน ชุมชนให้เตรียมความพร้อม เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการของชุมชน หรือสามารถดำเนินโครงการในช่วงเวลาที่เหมาะสม ตามที่กำหนด โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ หรือกำจัดผักตบชวา วัชพืช และขยะสิ่งปฏิกูล เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำที่ควรต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเข้าฤดูฝน รวมทั้งให้พิจารณากำหนดมาตรการในการกำกับดูแล และติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไปด้วย
เปิด 11 ข้อห้ามใช้งบประมาณ
สำหรับหลักเกณฑ์โครงการที่จะเสนอขอรับเงินอุดหนุน คือ เป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่คณะกรรมการหมู่บ้าน ชุมชน ได้รับข้อมูล ปัญหาความต้องการจากเวทีปะชาคมไทยนิยมยั่งยืน หรือจากแผนพัฒนาหมู่บ้าน หรือชุมชน ที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต น้อมนำศาสตร์พระราชา หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน โดยแต่ละหมู่บ้าน หรือชุมชนสามารถเสนอได้ไม่เกิน 2 โครงการ การจ้างแรงงานในโครงการ ต้องเป็นแรงงานคนไทยในพื้นที่ชุมชนทั้งหมด หรืออย่างน้อยร้อยละ 30 ถ้าไม่เพียงพอให้จ้างแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง โดยห้ามจ้างแรงงานต่างด้าว
ส่วนข้อห้ามในการดำเนินการมี 11 ข้อ ดังนี้
1. ห้ามนำงบประมาณไปต่อยอดเงินกองทุนหมู่บ้าน ชุมชน หรือในลักษณะกองทุนหมุนเวียน
2. ห้ามนำงบประมาณไปดำเนินโครงการ กิจกรรม โดยวิธีหารเฉลี่ยหรือแบ่งเงินสิ่งของให้กับประชาชน หรือครัวเรือนในหมู่บ้าน ชุมชน
3. ห้ามแจกจ่ายเป็นเงินหรือสิ่งของ ให้กับประชาชน หรือครัวเรือนในหมู่บ้าน ชุมชน
4. ห้ามนำไปใช้ในลักษณะให้ประชาชนกู้ยืม
5. ห้ามดำเนินโครงการฝึกอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน การจัดนิทรรศการ
6. ไม่เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนแผนงานโครงการ/กิจกรรมของส่วนราชการ/หน่วยงาน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อจะดำเนินการในพื้นที่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 หรือในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
7. ห้ามมิให้ดำเนินการที่เป็นสิ่งก่อสร้างในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับการอนุญาตตามระเบียบกฎหมายก่อนดำเนินโครงการ
8. ห้ามก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมเกี่ยวกับศาสนสถาน สถานศึกษา สถานที่ของทางราชการ ยกเว้น การดำเนินโครงการโดยใช้พื้นที่ภายในบริเวณศาสนสถาน สถานศึกษา สถานที่ของทางราชการเป็นที่ตั้งโครงการที่เป็นสาธารณประโยชน์ และได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จากผู้มีอำนาจในสถานที่นั้นๆ ก่อน
9. ห้ามดำเนินโครงการในที่สาธารณประโยชน์ ยกเว้น ซ่อมแซมที่มีอยู่แล้ว หรือโครงการที่เป็นการดูแลป้องกันที่สาธารณประโยชน์
10. ห้ามจัดทำโครงการซื้อครุภัณฑ์ เว้นแต่ที่จำเป็นเพื่อประกอบโครงการ
11. ห้ามจัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะประเภทใช้เครื่องยนต์หรือเครื่องไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร เช่น วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น กล้องวงจรปิด แผงโซลาร์เซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) วัสดุครุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้แล้ว และเครื่องออกกำลังกายที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
ในส่วนขั้นตอนดำเนินการนั้น เมื่อคณะกรรมการหมู่บ้าน ชุมชน ได้สรุปโครงการการ คัดเลือกผู้รับผิดชอบโครงการ 3 คณะ จะส่งโครงการให้คณะกรรมกาารบริหารงานอำเภอ หรือคณะกรรมการที่ กทม.แต่งตั้ง พิจารณาโครงการและค่าใช้จ่าย และเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ปลัด กท. เพื่อเสนอให้กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1-18 ให้ความเห็นชอบ
เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้ที่ทำการปกครองจังหวัด หรือ/กรุงเทพมหานคร โอนเงินตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติเข้าบัญชีของหมู่บ้าน ชุมชน ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอิสลาม และแจ้งคณะกรรมการระดับอำเภอ/เขต และคณะกรรมการหมู่บ้าน ชุมชน ทราบ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ