จากกรณีปัญหาอาหารกลางวันจากการจัดสรรงบประมาณหัวละ 20 บาท ของท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยอมรับว่า การตรวจสอบการจัดทำอาหารทำได้เพียงสุ่มตรวจเท่านั้น เพราะบุคลากรไม่เพียงพอ แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาด้วยการจัดทำระบบแนะนำสำรับอาหาร แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้ล่าสุดพบว่าหลายจังหวัดมีสภาพไม่แตกต่างกัน
อาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า นักเรียนจะได้รับสารอาหารครบถ้วนหรือไม่ เพราะเมื่ออาหารถูกตักให้นักเรียน กับข้าวในชามส่วนใหญ่มีแต่ฟัก และแทบไม่มีเนื้อสัตว์อยู่เลย นี่ทำให้ผู้ปกครองหลายคนเลือกที่จะต้มไข่กับข้าวเหนียวห่อมาให้ลูกรับประทานเสริมหลังทานอาหารของโรงเรียนเสร็จ
จากการสอบถามเรื่องงบอาหารของนักเรียน ทราบว่าแม้นักเรียน 1 คน จะได้รับค่าอาหาร 20 บาท แต่การจัดสรรงบประมาณภาพรวมของโรงเรียนต้องจ้างแม่ครัวมาทำอาหาร หรือบางโรงเรียน หากงบประมาณไม่พอต้องให้ผู้ปกครองหมุนเวียนกันมาทำอาหารให้
นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ให้ข้อมูลการเบิกจ่าย งบอุดหนุนอาหารกลางวันนักเรียนว่า เป็นงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรผ่านกระทรวงมหาดไทย จากนั้นส่งต่อให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อโอนให้กับท้องถิ่น ก่อนที่โรงเรียนแต่ละแห่งจะสำรวจจำนวนนักเรียนที่เข้าหลักเกณฑ์การได้รับเงินสนับสนุนอาหารกลางวันเพื่อแจ้งยอดขอรับเงิน นักเรียน 1 คน จะได้รับเงินสนับสนุน วันละ 20 บาท 1 ภาคเรียนมี 200 วัน นั่นหมายความว่า นักเรียน 1 คนได้รับเงินสนับสนุน ภาคเรียนละ 4,000 บาท หากมีนักเรียน 300 คน 1ภาคเรียนจะได้รับเงิน 1.2 ล้านบาท
แม้ว่างบประมาณจะมาจากกระทรวงมหาดไทย แต่กระทรวงศึกษาธิการในฐานะต้นสังกัดของโรงเรียน จะเป็นผู้เข้าไปตรวจสอบการจัดสรรเมนูอาหารแต่ละมื้อ โดยมีการแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ ผ่านทางเว็บไซต์ thaischoollunch ซึ่งแต่ละภาคเรียนจะส่งคณะทำงานลงพื้นที่สุ่มตรวจการจัดสำรับอาหารในโรงเรียนทั่วประเทศ แต่เพราะบุคลากรมีจำกัดทำให้แต่ละปี ลงพื้นที่ได้ไม่มาก
ส่วนที่โรงเรียนบ้านท่าใหม่ ซึ่งปรากฎเป็นข่าวนักเรียนกินขนมจีนคลุกน้ำปลา ล่าสุด คณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานีเขต 2 เข้าตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายเงินสำหรับจัดซื้ออาหารกลางวัน พบข้อมูลการเปิดจ่ายเงินที่ไม่ตรงกับเอกสารในรายการอื่นๆด้วย เช่น เบิกจ่ายงบประมาณ 205,000 บาท เพื่อก่อสร้างถนน แต่เอกสารการเบิกจ่ายมีไม่ถึงงบที่ขอเบิก รวมถึงแบบการก่อสร้างเป็นถนนเสริมเหล็ก แต่คณะกรรมการฯได้รับข้อมูลจากชาวบ้านก่อสร้างจริงเป็นถนนเสริมไม้ไผ่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีเสาไฟฟ้าหายไป 2 ต้นด้วย หลังจากนี้ต้องสอบปากคำครูภายในโรงเรียนเพิ่มเติมอีก
ขณะที่โรงเรียนวัดนางชำ(ประชารัฐรังสฤษฏ์) อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มีการจัดโครงการอาหารเช้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 180 คน ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2558 โดยโครงการนี้องค์การบริการส่วนตำบลคลองขนาก จัดสรรงบประมาณช่วยสนับสนุนโรงเรียน แลกกับการให้โรงเรียนจัดกิจกรรมบริการสังคม เช่น เวลามีงานศพ โรงเรียนจะจัดนักเรียนมาช่วยงาน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ