กระทรวงแรงงาน มุ่งสร้างหลักประกันทางสังคม เป็นธรรม เท่าเทียม คุ้มครองแรงงานได้อย่างทั่วถึง ให้มีคุณภาพชีวิตและมีหลักประกันชีวิต โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบหรือกลุ่มแรงงานอิสระ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์มาตรา40
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เรื่องของประกันสังคม รัฐบาลก็ให้ความสำคัญเสมอ โดยเฉพาะแรงงานที่เป็นอิสระ ที่มีอยู่ประมาณ 22 ล้านคน ซึ่งในปี 2560 สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ไม่เพิ่มเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แค่ 2.7 ล้านคน ส่วนแรงงานที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองอีกจำนวน 20.8 ล้านคน ทางกระทรวงเองได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 5 ปีต้องส่งเสริมให้ได้ 5 ล้านคน เพื่อให้แรงงานได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 40
คุณวรพล ลิ้มศิริวงศ์ ผู้ประกันตนมาตรา 40 เล่าว่า หลังออกจากงานประจำมา ก็ไม่ได้ทำประกันสังคมมาตราไหนเลย จึงไม่มีคุ้มครองอะไรให้เลย โดยเฉพาะช่วงที่เจ็บป่วยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด ซึ่งเป็นเงินค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 แล้วก็มีความอุ่นใจ ถ้าเราเจ็บป่วย ได้ชดเชยรายได้ ประโยชน์มากโดยเฉพาะการชดเชยรายได้ ไม่ว่าเราจะนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือเป็นผู้ป่วยนอก ก็ได้ชดเชยในส่วนที่เราขาดรายได้ในวันนั้นไป ผมเลือกสมัครเป็นทางเลือกที่3จ่ายเดือนละ 300 บาท ซึ่งมองดูคุ้มค่ากับความคุ้มครองและสิ่งที่จะได้ในอนาคตไปจนถึงวัยชราด้วย
สำหรับประกันสังคม มาตรา 40 ประกันสังคมใหม่ เป็นการขยายประกันสังคม ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ กลุ่มคนประกอบอาชีพอิสระ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร รวมไปถึงพนักงานอิสระต่าง ๆ ได้มีหลักประกันในชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้สมัครรับสิทธิ จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปี บริบูรณ์ ทำงานไม่มีนายจ้าง และต้องไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา33และ39
ผู้ประกันตนสามารถเลือกรูปแบบจ่ายเงินสมทบได้ 3 รูปแบบ คือ
1.ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพ
2. ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ และเงินบำเหน็จชราภาพ
3. ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร
สำหรับสิทธิประโยชน์ของการประกันสังคม มาตรา 40 คือ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย เมื่อนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 300 บาทต่อวันไม่เกิน 30 วันต่อปี เงื่อนไขจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน (การรักษาพยาบาลใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท สำหรับกรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเบิกได้ตั้งแต่วันแรกที่นอนโรงพยาบาล /กรณีไม่ได้นอนพักรักษาตัวแต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้วันละ 200 บาท กรณีมีใบรับรองแพทย์ ให้หยุดพักรักษาตัว 1-2 วัน ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 50 บาท แต่ไม่เกินคนละ 3 ครั้งต่อปี
- เพิ่มเงินสงเคราะห์กรณีตาย 3,000 บาท เมื่อส่งสมทบมาแล้ว 60 เดือน
- ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร อัตราคนละ 200 บาทต่อเดือนคราวละ 2 คน
- กรณีชราภาพ เงินบำเหน็จชราภาพ หากส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนจะได้รับเงินเพิ่มจำนวน 10,000 บาท
- กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500 – 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานานถึง 15 ปีเงื่อนไข เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนขึ้นไป (ต้องเป็นผู้ทุพพลภาพหรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการ แพทย์)
- กรณีตาย รับเงินค่าทำศพจำนวน 20,000 บาทต่อราย เงื่อนไข จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ก่อนเสียชีวิต ยกเว้น เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เงื่อนไข จ่ายเงินสมทบครบ 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต
- กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ) ผู้ประกันตนสามารถรับเงินก้อนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เงื่อนไข มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ และทาง www.sso.go.thพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน และสามารถจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์บิ๊กซี เทสโก้โลตัส หรือเคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ตู้บุญเติม เคาน์เตอร์ CENPAY หรือจะหักผ่านบัญชีธนาคารต่างๆ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร,ธนาคารไทยพาณิชย์,ธนาคารทหารไทย,ธนาคารกสิกรไทย,ธนาคารกรุงเทพ,ธนาคารออมสินและธนาคารธนชาต หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม สายด่วนโทร. 1506
ข่าวจาก : เดลินิวส์ออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ