เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดกิจกรรมรำลึก 11 ปี น.พ.สงวน นิตยาธัมภ์พงศ์ โดมีการเสวนาหัวข้อ นโยบายด้านหลักประกันสุขภาพในอนาคต โดยเฉพาะมุมมองต่อการควบรวม 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ โดยเชิญตัวแทนจากฝ่ายการเมืองร่วม คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมอภิปราย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องผลักดันสู่รัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ประชานิยม ไม่เห็นด้วยกับการรวมกองทุน เพราะอาจมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะข้าราชการ เนื่องจากอาจจะเร็วเกินไป สิ่งที่คนเคยได้จากระบบราชการจะลดน้อยลง ต้องมีทางชดเชย ประเด็นคือ ต้องหาเงินให้เพียงพอ ต้องหาภาษีเพิ่ม แต่ตอนนี้ถดถอยมาก คนรวยได้รับการงดเว้นผ่านสิทธิพิเศษมาก การบริหารทรัพยากรภาพรวม ทั้งต้องมีนโยบายที่เชื่อมโยง พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนระบบประกันสุขภาพที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อลดความเหลื่อล้ำ
“ความเท่าเทียมต้องมีทั้งบริการและยา ถ้าจะปรับสิทธิมีการปรับสิทธิประกันสังคมหรือข้าราชการ ก็ต้องมีการชดเชย เพื่อให้ความเป็นนธรรมกับเขา เพราะเป็นเงื่อนไขการจ้าง วันเข้าหน้า ไม่ว่าจะรวมกองทุนหรือไม่ ต้องใช้เทคโนโลยีรวมฐานข้อมูล ปัญหาเรื่องเวลาและคุณภาพยาย อย่างต้องเพิ่มงบประมาณแต่ละกองทุนตามเงินเฟ้อ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า แม้หลักประกันสุขภาพ จะถูกใช้วาทกรรมว่า เป็นประชานิยม แต่นี่คือสิ่งที่ทั่วโลกยอมรับว่า จึงยังเป็นหลักที่เราต้องยึด กว่า 17 ปีผ่านไปแล้ว หลักประกันสุขภาพ สวัสดิการสังคม กองทุนข้าราชการ ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งบิดเบี้ยวเปลี่ยนเพี้ยนไปตามรัฐบาลที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนแรกเริ่ม 1,200 บาทต่อหัวเป็น 3,600 บาทต่อหัว หมอพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับความสุขเงินไม่พอ ต้องได้รับความคุ้มครอง ผู้รับบริการก็ไม่มีความสุขคิวยาว จึงต้องพิจารณาปรับเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งระบบยังจูนไม่ตรงกัน
“จุดเริ่มของไทยรักไทยที่ทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค พรรคเพื่อไทยคือ ผู้ทำคลอดหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า สิ่งที่จะทำต่อไปคือ “30 บาทสุขภาพดีถ้วนหน้า” ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพ กระจายอำนาจลงไประดับเขต ต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ผู้ให้บริการทั้งหมดและพยาบาลต้องได้รับความคุ้มครอง ใช้เทคโนโลยีมาช่วยการจัดการ” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ขณะที่นายสุวิทย์ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพ ต้องไม่มองเป็นการเมือง ต้องทำให้ต่อเนื่อง ใช้หลักดีช่วยป่วยรวยช่วยจนพัฒนาการตลอด 17 ปีที่ผ่านมานั้น ทุกฝ่ายช่วยกัน พปชร.มอง 4 ประเด็นที่ต้องตอบคือ 1.ประชาชนได้รับสิทธิถ้วนหน้าแล้วหรือไม่ ซึ่งทั้ง 3 กองทุนรวมกัน ก็เกือบร้อยละ 90 แล้ว 2.เมื่อได้รับสิทธิแล้ว เข้าถึงสิทธิได้เพียงพอหรือไม่ 3.ได้รับการบริการที่เดียงใด 4.งบประมาณที่ได้รับบริหารการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งพลังประชารัฐจะเสนอนโยบาย “ปรับเปลี่ยนเชื่อมโยงยกระดับและขับเคลื่อน” ผ่านการปรับเปลี่ยนกลไก เพื่อความเท่าเทียมยกระดับและเท่าเทียม เชื่อมโยงทุกภาคส่วนทุกพื้นที่ ยกระดับประสิทธิภาพคุณภาพการให้บริการได้มาตราฐานจริง หลักประกันสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัย การเดินหน้าไปสู่รัฐสวัสดิการเป็นเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง
ด้านนายธนาธร กล่าวว่า หมอสงวนคือผู้นำการศึกษาและผู้นำทางความคิด มีบทบาทสำคัญผลักดันระบบบัตรทองในวันนี้ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำคัญสองประการคือ 1. คำว่า ประกัน ที่ไม่เคยมีการเข้าถึงการรักษาพยาบาลว่า เป็นสิทธิของประเทศไทย 2. คำว่า ถ้วนหน้า ทุกคนใช้ได้เหมือนกัน มันก่อให้เกิดมิติใหม่ทางการเมืองว่า ประชาธิปไตยกินได้ นโยบายเป็นไปได้ การเมืองทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งมีจริง นโยบายนี้คือ อิฐก้อนแรกของการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย ที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้แล้ว ซึ่งถากถางให้คนรุ่นใหม่อย่างตน ที่มีความฝันเดียวกันเดินต่อไปข้างหน้า ดังนั้นการเดินทางจึงยังไม่จบ สิ่งที่เป็นอยู่ จึงไม่ใช่รูปแบบสุดท้าย มีสิ่งที่ต้องเดินไปข้างหน้าอยู่
นายธนาธร กล่าวว่า ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2546 งบข้าราชการต่อหัวเริ่มที่ 5,600 บาท บัตรทอง 1,200 บาท โตเท่ากันเฉลี่ย 8 เปอร์เซ็นต์ 5 ปีหลังสุดโตเท่ากัน 4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต่างที่เพิ่มข้าราชการได้ 9,000 บาทต่อหัว แต่บัตรทองเพิ่มเพียง 2,000 บาท หากมองแค่ 5 ปีหลังสุด ข้าราชการได้เพิ่ม 2,800 บาท แต่บัตรทองเพิ่มแค่ 500 บาท นี่คือเรื่องที่ต้องจัดการ พรรคอนาคตใหม่ อยากเห็นหลักประกันสุขภาพที่เท่าเทียม ซึ่งหากปล่อยให้งบประมาณโตเฉลี่ยแบบนี้ จะไม่มีทางเท่ากัน จึงเสนอให้เพิ่มงบของบัตรทองมากขึ้น กว่างบข้าราชการ เพื่อลดช่องว่า เมื่องบเข้ามาใกล้กันเมื่อไร คนก็จะไม่รู้สึกว่า เสียอะไรไป และค่อยนำมารวมกันต่อไป
“นโยบายอนาคตใหม่ที่ผลักดันรัฐสวัสดิการ จึงขอเสนอเพิ่มงบบัตรทอง 3 เท่าทันที เป็น 4,000 บาทต่อหัว คิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ ทันที ซึ่งรัฐบาลนี้เสนอเพียง 3,800 บาท โดยไม่ต้องแจงว่าเงินมาจากไหน แต่พรรคการเมืองต้องชี้แจงอย่างละเอียด ซึ่งอนาคตใหม่สามารถทำได้ด้วยการเพิ่มภาษีที่ดิน 3 เท่า เพราะภาษีที่ดินที่รัฐบาลนี้ทำไม่ก้าวหน้าจริง ก็จะทำให้มีงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท มาเพิ่มงบประมาณบัตรทองได้ทันที ยืนยันว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอ ส่วนบริการต้องยกระดับ 3 ส่วน 1.ยกระดับความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขมาก ให้ทำงานเบื้องต้นได้ 2.เทคโนโลยี ทำระเบียนเวชเข้าสู่ดิจิทัล ให้คนเข้าถึงข้อมูล ใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วย และ 3.โครงสร้าง ต้องยุติอำนาจราชการรวมศูนย์” นายธนาธรกล่าว
นายธนาธร กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมามักมีคนบอกว่า งบประมาณจะพัง หากผลักดันประกันสุขภาพ นายกฯ คนนี้ก็พูดตลอดว่าจะเอาเงินมาจากไหน การต่อสู้ทางความคิดจึงต้องลงรายละเอียดเรื่องการเก็บภาษี นี่่คือวิธีที่จะทำให้การคลังไม่พัง ด้วยการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพคือรัฐทำประกันให้ประชาชน ในแง่นี้ไม่ใช่ประนิยมตรงกันข้ามกับสิ่งที่นำมาใช้โจมตีรัฐบาล ซึ่งการเป็นรัฐสวัสดิการจะเป็นได้ต่อเมื่อ สวัสดิการของรัฐมีมากขึ้น การจะทำให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ ก็ต้องพูดเรื่องที่มาของงบประมาณรายได้ ทั้ง 3 กองทุน ควรทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ต้องมีงบประมาณและสิทธิเพิ่มขึ้น ซึ่งตลอด 4-5 ปี มีความพยายามล้มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องตั้งหลักกันใหม่คือ พวกเราต้องสนับสนุนให้เข็มแข็ง
ด้านตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม กล่าวว่า ต้องไม่เริ่มมองการรักษาพยาบาลว่าเป็นภาระ เป็นแค่เรื่องเงิน แต่นี่คือการลงทุน ไม่คิดรวม 3 กองทุนก็จบแล้ว การตัดสินใจต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพราะเงินมาจากภาษีประชาชน สวดมนต์ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง อย่างน้อยต้องลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าควบรวมได้จะดีที่สุด สิ่งเหล่านี้ขอฝากไปยังพรรคการเมืองที่เตรียมพร้อมลงเลือกตั้ง ขอให้มีความจริงใจต่อการผลักดัน ไม่ต้องเป็นรัฐบาล แต่เป็นฝ่ายค้านก็สามารถทำได้ คนบอกว่า คนเสียสละเป็นข้าราชการ แต่ความเป็นจริงประชาชนทุกคนก็อยากเสียสละเป็นข้าราชการเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ลูกท่านหลานเธอก็ทำไม่ได้ ชาวนาเสียสละปลูกข้าวให้กินหรือไม่ ทุกอาชีพเสียสละเหมือนกันทั้งหมดประเทศนี้ไม่ได้จนเงิน แต่จนปัญญา
ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ