สกสค.ลุยยกเครื่อง ‘โรงพยาบาลครู’ จี้ปรับปรุงอาคารเปิดคลินิกนอกเวลา





 

นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลครูของ สกสค. ว่า นับจากสถานพยาบาลของ สกสค.ได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลครู” เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2560 สกสค.ได้ปรับปรุงการบริหารงานของโรงพยาบาลครู โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลครู มีเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. เป็นประธาน คณะกรรมการแพทย์ประจำโรงพยาบาลครู มี นพ.วีระ ศิริรัตน์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลครู เป็นประธาน และคณะกรรมการกำหนดแผนการใช้ยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละคณะได้มีการดำเนินงานอย่างเข้มข้น ส่งผลให้โรงพยาบาลครูได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“โรงพยาบาลครูมีจุดแข็ง คือ เราอยู่ในข่ายยกเว้นการควบคุมจาก พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 คือเราสามารถซื้อยาที่มีผู้ผลิตรายเดียว หรือยาต่างประเทศได้ เราจึงเน้นสั่งยาดีเข้ามาใช้รักษาผู้ที่เข้ามารับการบริการ ราคาจำหน่ายให้ผู้ป่วยยึดราคากลางของกรมบัญชีกลาง ซึ่งคนไข้สามารถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายได้ 100% ภายใต้เงื่อนไขว่าให้ซื้อยาเป็นไตรมาสเพื่อให้ได้ยาที่ใหม่อยู่เสมอ โดยโรงพยาบาลครูจะต้องเป็นที่กล่าวขวัญว่ายาที่นี่ดีกว่าที่อื่นๆ นอกจากยาที่ดีมีคุณภาพแล้ว ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายด้าน ที่มาจากโรงพยาบาลชั้นนำ และมีประสบการณ์ทางด้านการรักษามายาวนาน” ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. กล่าว

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า ในส่วนของบุคลากรของโรงพยาบาลครูมีอัตรากำลังที่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด สกสค. 38 อัตรา แต่มีตำแหน่งที่ปฏิบัติงานอยู่เพียง 29 อัตรา ตำแหน่งว่าง 9 อัตรา ประกอบด้วยแพทย์อัตราว่าง 1 อัตรา ทันตแพทย์อัตราว่าง 1 อัตรา พยาบาลวิชาชีพมีกรอบ 7 อัตรา ขณะนี้ขาด 2 อัตรา พยาบาลเทคนิคยังขาดอีก 1 อัตรา เจ้าหน้าที่พนักงานเภสัชกรรมยังว่าง 1 อัตรา และตำแหน่งนักรังสีการแพทย์ยังว่าง 1 อัตรา นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งบางตำแหน่งที่อาจต้องสลับสับเปลี่ยนเพื่อให้การทำงานคล่องลงตัวยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะให้โรงพยาบาลครูกลับไปสำรวจถึงความจำเป็นและจะรีบสรรหา โดยมีหลักการว่าตำแหน่งไหนที่เป็นวิชาชีพควบคุม ผู้ที่ประกอบวิชาชีพควบคุม ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพนั้นเท่านั้น เช่น เภสัชกร จะไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเข้าไปปฏิบัติงาน แพทย์ พยาบาลก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ คือการปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลครูให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากได้เปิดดำเนินการมานานร่วม 60 ปี ทำให้อาคาร รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ชำรุดทรุดโทรม จึงมีความจำเป็นที่ต้องรีบปรับปรุงพื้นที่และจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการรองรับผู้ใช้บริการทั้งคลินิกในเวลาและคลินิกนอกเวลาที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี 2562.

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: