สิ่งของที่เป็นเครื่องประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรล้วนมีความหมายอันเป็นมงคลสำหรับที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์โดยมีความหมายดังนี้
วิฬาร์ (แมว) แสดงถึง ความโชคดี มีลาภร่มเย็นเป็นสุข อันสอดคล้องกับคติความเชื่อของไทยที่ว่า แมวหมามาสู่จะมีลาภ อีกทั้งยังเชื่อว่าแมวสามารถขับไล่ภูตผีปิศาจและสิ่งชั่วร้าย เพราะแมวมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ในเวลากลางคืน หรือความเชื่อที่ว่าแมวมีเก้าชีวิต หมายถึงความยั่งยืนสถาพรและเป็นอมตะ
ศิลาบด เป็นของใช้ในครัวเรือนใช้บดเครื่องแกงหรือเครื่องปรุงอาหารต่างๆ การนำศิลาบดมาใช้ในการเฉลิมพระราชมณเฑียรมีความหมายสอดคล้องกับการแสดงความยินดีในการขึ้นเรือนใหม่ด้วยการมอบเครื่องครัวและพันธุ์พืช แก่เจ้าของเรือนนั้น หรือเกี่ยวข้องกับคำให้พรอันแสดงถึงความเจริญงอกงามและมีความมั่นคงที่ว่า “ให้อยู่เย็นเป็นสุขดั่งอุทกธารา และฟัก ให้มีน้ำใจหนักหน่วงดุจศิลา ขอให้ถั่วงางอกงามบริบูรณ์” ศิลาดังกล่าวนั้นหมายถึงศิลาบด และยังเห็นถึงความหมายของสิ่งอันเป็นมงคลอีกคือ ฟักเขียว หมายถึง ความร่มเย็นเป็นสุข และถั่วงา หมายถึงความเจริญงอกงาม เช่นเดียวกับข้าวเปลือกที่มีความหมายเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งของที่มีความหมายดีแก่องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงเฉลิมพระราชมณเฑียรหรือผู้ที่ขึ้นเรือนใหม่ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีสิ่งของอันมีความหมายมงคลที่ใช้ในการพระราชพิธีดังกล่าวอีกคือ ดอกหมาก หรือจั่นหมาก บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะดอกหมากหรือจั่นหมากมีลักษณะเป็นพวงเมื่อออกผลจำนวนมากเรียกเป็นทะลาย แสดงถึงความรุ่งเรืองมีทรัพย์ศฤงคาร เช่นเดียวกับดอกมะพร้าวหรือจั่นมะพร้าวที่ใช้ประดับสถานที่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็มีความหมายเดียวกัน
อีกสิ่งที่ปรากฏอยู่เสมอในการเฉลิมพระราชมณเฑียรคือ กุญแจทอง มีความหมายถึงการมอบกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าของบ้านใหม่ซึ่งก็คือพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งของอันเป็นมงคลสำหรับการพระราชพิธียังมีมากขึ้นในรัชกาลต่อมา ได้แก่ พระแส้หางช้างเผือกผู้ เริ่มมีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งแส้นั้นเป็นเครื่องใช้สำหรับปัดฝุ่นละออง การใช้หางช้างเผือกมาทำพระแส้นั้นแสดงถึงสิ่งของอันเป็นมงคลมากด้วยบารมี เนื่องจากช้างเผือกถือเป็นสัตว์คู่บารมีเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์
(ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ส่วนการอุ้ม ไก่ขาว เข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเริ่มมีปรากฎภาพในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อันอาจสอดคล้องกับการสร้างครอบครัวใหม่ที่มีการมอบสัตว์เพื่อช่วยเหลือเจ้าของบ้าน ซึ่งไก่นับเป็นสัตว์เลี้ยงสารพัดประโยชน์ทั้งบอกเวลาและเลี้ยงไว้กินไข่ และผสมผสานกับคติความเชื่อของจีนที่ว่า ไก่ขาวสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้
ขอบคุณที่มา ศิลปวัฒนธรรม
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ