เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ (นอ.) ปี 2552 นอ.รุ่น 68-70 โดยมีผู้ถูกชี้มูล 122 คน ประกอบด้วย นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครองในขณะนั้น นายสำราญ ตันเรืองศรี ผู้อำนวยการส่วนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายครรชิต สลับแสง เลขานุการกรมการปกครอง และผู้เข้าสอบและผ่านการคัดเลือกเข้าอบรมหลักสูตร นอ.จำนวน 119 คน ที่ถูกกล่าวว่ากระทำการทุจริตในการสอบ มีการแก้ไขกระดาษคำตอบที่ออกมาเป็นคำตอบเดียวกันว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 161 และ 162 (1) (4) ฐานทุจริตต่อหน้าที่และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และมูลความผิดทางอาญาฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ต่อมากรมการปกครองได้มีคำสั่งไล่ออกข้าราชการที่ถูกชี้มูลทั้งหมด 119 คน ในปี 2557 เป็นเหตุให้ผู้ที่ถูกไล่ออกจากราชการได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งกรมการปกครอง ไปยังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) และในปี 2558 ก.พ.ค.มีความเห็นว่า คำอุทธรณ์ฟังขึ้น จึงให้ลดโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ ต่อมากลุ่ม นอ.ที่ถูกไล่ออกได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองในคดีดำที่ ฟบ.11/2559 ที่นายคิม ปรีเปรม กับพวกรวม 89 คน ที่ถูกไล่ออก ได้ยื่นฟ้อง ก.พ.ค. ป.ป.ช. ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-6 เพื่อขอคืนประโยชน์ต่างๆ พร้อมดอกเบี้ยที่มีคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีทั้ง 89 คน และผู้ฟ้องเห็นว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดผู้ฟ้องในความผิดฐานประพฤติชั่วร้ายแรง รวมทั้งในขณะที่มีการรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้สิ้นผลโดยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นเหตุให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.สิ้นผลลงด้วยเช่นกัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้ตามที่เห็นสมควร เห็นได้ว่าเงื่อนไขแห่งการที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้มีอยู่ 3 ประการคือ ประการแรก กฎหรือคำสั่งทางปกครองเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายประการ 2.การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และประการที่ 3.การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4-6 มีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีแต่ละรายข้างต้นออกจากราชการตามคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติชี้มูลว่าผู้ฟ้องคดีแต่ละรายข้างต้นได้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด เห็นว่าโดยที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.2542 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทบัญญัติให้อำนาจแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการไต่สวนกรณีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่
ดังนั้นหากการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำความผิดวินัยฐานอื่นอันไม่ใช่ฐานทุจริตต่อหน้าที่ เช่นในคดีนี้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชี้มูลว่าผู้ฟ้องคดีแต่ละรายกระทำความผิดวินัยร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, 4-6 จะต้องถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยตามตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 แล้วพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้อีก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4, 5, 6
จึงต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วออกคำสั่งลงโทษตามฐานความผิดที่ได้ดำเนินการสอบสวนใหม่ต่อไป ดังนั้นการที่มีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีแต่ละรายออกจากราชการตามข้อพิพาทนี้โดยไม่ได้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยก่อนออกคำสั่ง คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายซึ่งเข้าเงื่อนไขประการแรกว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเงื่อนไขที่ว่าการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริหารสาธารณะหรือไม่ เห็นว่าเมื่อพิจารณาประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะระหว่างการให้ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างการพิจารณาคดีย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราชการที่จะได้บุคลากรกลับมาปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นผลให้มีกำลังคนหรือบุคลากรเพิ่มขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดินหรือการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐก่อให้เกิดความรวดเร็วต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้จะทำให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4-6 ต้องจัดหาตำแหน่งให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายอยู่บ้าง แต่ก็เป็นกรณีที่สามารถดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ซึ่งไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการแต่ อย่างใด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ