ลูกบ้านทุกข์ตรม! คอนโดฯที่ซื้อไว้เข้าอยู่ไม่ได้ จู่ๆไปเอี่ยวคดี”จำนำข้าว” ร้อง คสช.ช่วยแก้





ทุกข์ของมนุษย์ตึก ซื้อคอนโดฯ แต่ไม่ได้อยู่ บางรายผ่อนดาวน์จบแล้ว บางรายแบงก์อนุมัติเงินกู้แล้ว แต่ ‘เงินถูกแช่แข็ง’ อยู่กับบริษัทพัฒนาโครงการฯ มานานกว่า 3 ปี จากเหตุบริษัทพัวพันคดีระดับชาติ ‘ระบายข้าวจีทูจี’

ผู้ซื้อห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด (เดิมชื่อ สิราลัย) กว่า 100 ราย เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล (ศูนย์ดำรงธรรม) สำนักนายกรัฐมนตรี ในช่วงเช้าวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา และถวายฎีกา ที่สำนักพระราชวังในช่วงบ่าย

เป็นความพยายามตลอด 3 ปี นับตั้งแต่ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร หุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท กีธา พร็อพเพอตี้ส์ จำกัด เจ้าของโครงการ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้มีความผิดฐานร่วมกับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง และพวก ดำเนินโครงการคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ เมื่อ 25 ส.ค.2560 และ ปปง. อายัดทรัพย์ของน.ส.ธันยพร ซึ่งรวมถึงโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้การดำเนินการของบริษัท กีธาฯ ทั้งสิ้น 5 โครงการได้แก่ 

  • โครงการ THAN Living (แดน ลิฟวิ่ง) รัชดา-ประชาอุทิศ จำนวนที่อยู่อาศัย (ประมาณ) 488 ยูนิต
  • โครงการ MY STORY ลาดพร้าว 71 จำนวนที่อยู่อาศัย 656 ยูนิต
  • โครงการ THAN Living สาทร-เจริญราษฎร์ จำนวนที่อยู่อาศัย 523 ยูนิต  
  • โครงการ THAN Living พระราม 9-แอร์พอร์ตลิงค์ จำนวนที่อยู่อาศัย 530 ยูนิต
  • โครงการ THAN Living รัชดา-วงศ์สว่าง ยังไม่ได้ก่อสร้าง แต่ขายจองแล้ว 54 ยูนิต 

นายอานนท์ เหลืองวนิชประภา หนึ่งในผู้ซื้อห้องชุดในโครงการ THAN Living (แดน ลิฟวิ่ง) สาทร-เจริญราษฎร์ เปิดเผยกับทีมข่าว ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า ได้ตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมโครงการนี้มาตั้งแต่เปิดให้ผ่อนดาวน์ ก็ผ่อนดาวน์มาเรื่อยๆ จนครบ

กระทั่งปี 2560 ทราบว่า โครงการนี้ถูก ปปง. อายัดไว้ ทั้งที่จ่ายค่าผ่อนดาวน์ไปแล้วทั้งสิ้น 5 แสนบาท และตั้งใจซื้อห้องชุดนี้ไว้เพื่ออยู่อาศัยหลังแต่งงานด้วย แต่หลายอย่างก็ผิดแผนไปหมด

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราไปพบหลายหน่วยงานมากๆ เราเดินเรื่องทั้งทางกฎหมาย รวมถึงหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ปปง. ซึ่งที่มา ปปง. ก็เพื่อให้เขาทราบว่า เงินที่ยึดจากเราไป เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีจำนำข้าว และเพื่อนๆ ในโครงการนี้ ก็มีเงินติดอยู่กับโครงการนี้หลายแบบ บางคนก็หลักแสน บางคนหลักล้านบาท และหลายปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า” นายอานนท์ กล่าว

นางศิริพร ปิติอนุสรณ์ เป็นอีกหนึ่งผู้ซื้อห้องชุุดในโครงการ THAN Living (แดน ลิฟวิ่ง) สาทร-เจริญราษฎร์ เล่าว่า เริ่มจองคอนโดฯ โครงการนี้ตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว และปัจจุบันโครงการนี้สร้างถึงชั้น 14 แต่ก็เพียงซากตึก มีแต่โครงตากฝนตากลมอยู่ เพราะยังสร้างไม่เสร็จ เป็นซากตึกเก่าที่ไม่มีราคา แต่สร้างความเจ็บช้ำในชีวิต เพราะเงินที่นำไปผ่อนดาวน์ที่นั้นสูงถึง 1 ล้านบาท

ขณะนี้ ผ่านมาแล้ว 3 ปี ร้องเรียนมาหลายหน่วยงานราชการ ก็ยังไม่ทราบว่า จะได้เงินคืนจากไหน บางคนบอกว่า คดีจีทูจีตอนนี้เป็นเพียงศาลชั้นต้น ถ้าต้องรอคดีถึงที่สุดอาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปีอย่างนี้ เราจะอยู่รอไหวไหม

“ดิฉันเอาเงินก้อนที่เก็บออมและเงินเกษียณมาจองโครงการนี้ เพราะตั้งใจว่า จะดาวน์ให้กับลูกชายที่ตอนนั้นอยู่ต่างประเทศ และคำนวณว่า พอลูกกลับมาเมืองไทย เราก็ผ่อนดาวน์หมดและโครงการก็น่าจะสร้างเสร็จ แต่ตอนนี้ กลับเป็นว่า เงิน 1 ล้านบาทของเราก็ถูกฟรีซอยู่กับโครงการ มันเป็นการเสียโอกาสทั้งที่เงินจำนวนนี้ เราน่าจะได้ไปซื้อโครงการอื่นที่ตอนนี้น่าจะเข้าอยู่ได้แล้ว แต่ตอนนี้เรากลับเห็นเป็นแต่ซากตึกเก่า แล้วเราวัยนี้แล้วจะหาเงินจำนวนนี้ได้จากที่ไหน” นางศิริพร กล่าว

อีกทั้ง ปัญหาที่ผ่านมา คือ แต่ละหน่วยงานประสานงานกันไม่ดี เคยขอเข้าพบ คสช. มาทุกปี และวันนี้ เราก็อยากให้ คสช. แก้ปัญหาให้เรา เพราะถ้าไปหน่วยงานย่อยๆ เขาก็โยนกันไปโยนกันมา ซึ่งก่อนหน้านี้ หากศาลชั้นต้นออกมาว่าทรัพย์ของกีธาฯ ถูกยึด คสช. ก็จะออกมาตรการเยียวยามาดูแลพวกเรา และนี่ก็ผ่านมา 6 เดือนแล้ว ก็ยังเงียบ เพราะศาลชั้นต้นมีคำตัดสินตั้งเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

นางศิริพร ยืนยันว่าเราไม่ได้ต้องการความเห็นใจ แต่เราต้องการการแก้ปัญหา ความเห็นใจถ้าไม่แก้ปัญหา ก็ไม่มีประโยชน์

“ตอนนี้ เราต้องการเพียงเงินต้นคืนมา เราไม่ต้องการเงินชดเชยเยียวยา ทั้งที่ผ่านมา ทุกคนต่างมีต้นทุนเวลา แรงงาน ค่าเดินทางในทุกครั้งที่มาร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ มาตลอด 3 ปีนี้” นางศิริพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน 2 ใน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ THAN Living (แดน ลิฟวิ่ง) รัชดา-ประชาอุทิศ และโครงการ MY STORY ลาดพร้าว 71 เป็นโครงการสร้างเสร็จแล้ว มีผู้ซื้อจำนวนหนึ่งเข้าพักอาศัย แต่เนื่องจากเป็นตึกที่ ปปง. ยึดและตามระเบียบ ปปง. สามารถนำทรัพย์มาสร้างมูลค่าได้

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปปง. นำห้องชุดที่ว่างมาปล่อยเช่าในราคาเริ่มต้นเดือนละ 5,000-6,000 บาทต่อยูนิต ซึ่งสร้างความกังวลแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องพักที่ต้องผ่อนดาวน์และผ่อนเงินกู้แบงก์หลักหมื่นบาทต่อเดือน รวมถึงปัญหาเรื่องค่าส่วนกลางนานา

อ่านเพิ่มเติม https://www.voicetv.co.th/read/i4x0NAuFQ?fbclid=IwAR0PJKVyg18xQEQ7Gnalt5WbgsqcZ0LiqOyMFMmtQe6W3Ce0YM7wR3VlOrk

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: