รพ.จุฬาฯ แถลงอาการ วินัย ไกรบุตร





โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายการแพทย์และวิจัย พร้อมด้วยศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย น.ส.เฉลาศรี เสงี่ยม หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ร่วมแถลงการรักษาอาการป่วยอย่างเป็นทางการ

ศ.ดร.นพ.ประวิตร กล่าวว่า โรคผิวหนังมีจำนวนหลายพันโรค เพราะผิวหนังเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอก เมื่อเกิดผื่นตุ่ม หรือมีร่องรอยต่างๆ มักจะเห็นได้ง่าย จึงทำให้มีการตั้งชื่อโรคผิวหนังต่างๆ มากมาย บางชื่ออาจไม่เป็นที่คุ้นหูมากนักสำหรับคนไทย อาทิ เพมฟิกอยด์ ทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคใหม่ ทั้งๆ ที่จริงมีมานานแล้ว ร่างกายของแต่ละคนมักมีโอกาสทำงานผิดปกติ โดยที่ตนเองไม่รู้ตัว อาจเนื่องมาจากสาเหตุที่ระบบอื่นๆ ในร่างกายเข้ามาจัดการควบคุมดูแลกันเอง ทำให้ไม่มีอาการแสดงออกมา ภูมิต้านทานของคนเรานั้นมีหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม และมะเร็ง แต่บางครั้งภูมิต้านทานเหล่านี้ก็จำผิด เลยกลับมาทำอันตรายอวัยวะของตนเอง ทำให้เกิดโรคแพ้ภูมิตัวเองขึ้น

ในส่วนของโรคตุ่มน้ำพอง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก็ไม่ใช่โรคหายาก สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มาทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกจากกันกลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก รอยโรคสามารถพบได้ทั้งผิวหนังและเยื่อบุ โรคที่พบบ่อยมี 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคเพมฟิกัสและโรคเพมฟิกอยด์

โรคเพมฟิกัสมักพบในช่วงอายุ 50-60 ปี มีความผิดปกติที่ชั้นผิวหนังกำพร้า จะเกิดในผิวหนังชั้นตื้นกว่า แต่อาจกินบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจึงมีแผลเสมือนถูกน้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากร่วมด้วย มีอาการเจ็บ และอาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่นได้ เช่น ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ ที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ แตกได้ง่าย กลายเป็นแผลถลอก มีอาการปวดแสบมาก เมื่อแผลหายมักทิ้งรอยดำโดยไม่เป็นแผลเป็น

ส่วนโรคเพมฟิกอยด์ พบได้บ่อยกว่าโรคเพมฟิกัส มักพบในอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้สูงอายุเกิดจากมีการหลุดลอกของชั้นหนังกำพร้าออกจากชั้นหนังแท้ จะเกิดการแยกชั้นของผิวหนังที่ลึกกว่า แต่ก็มักจะกินบริเวณไม่กว้างมากนัก ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการผื่นแดงคันนำมาก่อน ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำใสขนาดต่างๆ กัน โดยตุ่มน้ำมีลักษณะพอง แตกยากหรืออาจแตกออกเป็นแผลถลอก รอยโรคที่เยื่อบุพบได้น้อยกว่าโรคเพมฟิกัส และมักไม่เจ็บ โดยทั่วไปความรุนแรงของโรคมักน้อยกว่าเพมฟิกัส

สำหรับโรคตุ่มน้ำพอง มักต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาร่วมกับการตรวจทางอิมมูนเรืองแสงในการวินิจฉัยโรคด้วย ยาที่ใช้รักษาเป็นหลักคือ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน ในโรคเพมฟิกอยด์ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยากลุ่มที่ไม่ใช่ยากดภูมิคุ้มกัน ในรายที่ตุ่มน้ำหรือแผลถลอกมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

ข่าวจาก Ch3ThailandNews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: