“ธาลัสซีเมีย” เป็นโรคโลหิตจางที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แบบยีนเดี่ยว ซึ่งพบได้บ่อยในประเทศไทย ความรุนแรงของโรคนี้มีได้ตั้งแต่แสดงอาการเพียงเล็กน้อย ปานกลาง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มีคุณภาพชีวิตลดลง เนื่องจากต้องรักษาไปตลอดชีวิต และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก นับว่าเป็นโรคชนิดไม่ติดต่อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย
ล่าสุด คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เห็นชอบให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตกรณีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคอื่น ๆ จากเดิมที่จำกัดสิทธิไว้เพียงเฉพาะผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงและมีข้อบ่งชี้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2563
โดยปรับอัตราและเงื่อนไขการจ่ายชดเชยค่าบริการให้ครอบคลุมระยะการรักษาตั้งแต่ “ก่อน” รับการปลูกถ่าย “ระหว่าง” การปลูกถ่าย และ “หลัง” การปลูกถ่าย กำหนด “อัตราชดเชยแบบเหมาจ่าย” 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยใช้เซลล์ของผู้ป่วยเอง รายละ 750,000บาท
กรณีที่ 2 การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาค ทั้งในกรณีที่ผู้บริจาคเป็นญาติพี่น้องและไม่ใช่ญาติพี่น้อง รายละ 1,300,000 บาท
เหตุผลในการ “ปรับอัตราและเงื่อนไขการจ่ายชดเชยค่าบริการ” เนื่องจาก การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในอดีตมีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาน้อยมากเพราะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 1 ล้านบาท
นับตั้งแต่ปี 2551 ที่บรรจุเรื่องการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเป็นสิทธิประโยชน์ในกองทุนบัตรทองจนถึงปี 2561 มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายแล้ว 414 ราย เป็นผู้ป่วยเด็ก 79 ราย ผู้ใหญ่ 335 ราย ส่วนปี 2562 กำหนดเป้าหมายการปลูกถ่าย 97 ราย
โดยในปี 2563 ขยายเป้าหมายการรักษาผู้ป่วยเป็นจำนวน 110 ราย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงให้กับผู้ป่วย
สำหรับหน่วยบริการที่ให้บริการการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี 10 โรงพยาบาล ดังนี้
- 1. โรงพยาบาลรามาธิบดี
- 2. โรงพยาบาลศิริราช
- 3. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- 4. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- 5. โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
- 6. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
- 7. โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
- 8. โรงพยาบาลศรีนครินทร์
- 9. โรงพยาบาลหาดใหญ่
- 10. โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330
ข่าวจาก กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ