วันที่ 20 ก.ค. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายของกระทรวงพลังงาน ร่วมกับ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน ว่าที่ประชุมเห็นตรงกันในการผลักดันนโยบายพลังงานในมิติการสร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยจะปรับเงื่อนไขการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในการซื้อพลังงานเพิ่มเติม จากปัจจุบันรัฐมีมาตรการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับครัวเรือนในลักษณะส่วนลดราคา 45 บาทต่อ 3 เดือน
“รัฐจะปรับเงื่อนไขอย่างไรให้เข้าถึงประชาชนทั่วถึงอย่างแท้จริง ส่วนมิติการสร้างรายได้นั้นจะเน้นการพัฒนาพลังงานทางเลือกให้กับชาวบ้าน เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยภาคประชาชน(โซลาร์ภาคประชาชน) ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่าประชาชนยังไม่นิยมติดตั้งเท่าที่ควร จึงต้องเข้าดูในรายละเอียดว่าเพราะอะไร หรือควรปรับเงื่อนไขหรือไม่อย่างไร รวมถึงทำอย่างไรให้มีการสะสมพลังงานไว้ใช้กลางคืนด้วย” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้เสนอแนวคิดการส่งเสริมพลังงานบนดินจากพืชเกษตรแบบมีการบริหารจัดการในระดับภูมิภาคที่มีศักยภาคเรื่องที่ตั้ง และภาคเกษตรที่เข้มแข็ง ที่สำคัญต้องไม่ใช่เพียงแค่การอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร เพราะพืชพลังงานต้องมองมิติการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมันที่จะนำมาผลิตไบโอดีเซลบี 7 บี 20 และบี 20 และอ้อยที่จะนำมาผลิตเป็นเอทานอล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงพลังงานเพื่อกำหนดเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้ต่อเนื่องในระยะสั้น 1 ปี และในระยะยาว 4 ปี จากนั้นจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำกรอบการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน (ส.ค.-ต.ค.2562) รวมถึงการกำหนดบทบาทของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้เกิดความสมดุลในการบริหารจัดการไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐไม่น้อยกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ ต้องดูรายละเอียดอย่างรอบคอบ เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้มีแนวโน้มพิจารณาขยายฐานให้ผู้มีรายได้น้อยใช้ไฟฟ้าฟรี จากปัจจุบันอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 50 หน่วย รวมถึงการพิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) สำหรับรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถโดยสารสาธารณะทั้งรถเมล์ รถตู้ รถแท็กซี่ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติชดเชยราคาลดลงเหลือ 3 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) จากเดิมชดเชย 6 บาทต่อกก. เท่ากับขึ้น 3 บาทต่อกก.
โดยให้ทยอยปรับขึ้นครั้งละ 1 บาทต่อกก. ซึ่งครั้งแรกปรับขึ้นไปแล้ว 1 บาทวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นจะขึ้นอีกครั้ง 1 บาทต่อกก. วันที่ 16 ก.ย. และครั้งสุดท้ายวันที่ 16 ม.ค. 63 ซึ่งต้องมาติดตามว่าจะมีการตรึงราคา 2 ครั้งที่เหลือหรือไม่ เพื่อช่วยเหลือรถโดยสารสาธารณะ
ส่วนมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ บี 20 ลิตรละ 5 ต่อบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการยกระดับราคาปาล์ม จะมีการพิจารณาขยายระยะเวลาต่อไปอีกหรือไม่ จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค.นี้ ต้องหารืออีกครั้ง หากไม่ขยายเวลาราคาน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ บี 20 จะต่ำกว่าราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลทั่วไปลิตรละ 3 บาท
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ