“อนุทิน” ขอคนไทยใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เลิกเห่อแบรนด์เนม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินหมุนเวียนในประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าให้ถึง 3.6 แสนล้านบาท จี้ อย.ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ไร้สารพิษให้เร็วใน 1 วัน หากไม่ปลอดภัยต้องจัดการใน 1 ชม. พร้อมจับมือคิงเพาเวอร์-ซีพีออลล์ ตีตลาดนักท่องเที่ยวและคนไทย
(22 ส.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงนโยบายการพัฒนาสมุนไพรไทยสร้างเศรษฐกิจองรัฐบาล ในโครงการนำสมุนไพรไทยคุณภาพสู่ตลาดโลก พร้อมกับเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่าง นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ ดร.วิมลกานต์ โกศุมาตร รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
นายอนุทินกล่าวว่า ตนเคยได้รับมอบหมายให้ดูแลกรมแพทย์แผนไทยฯ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน มาวันนี้สมุนไพรไทยพัฒนาไปมาก จนแทบจำของเดิมไม่ได้ มีการวางจำหน่ายอยู่ทุกประเทศทั่วโลก สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ จาก 180,000 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 280,168 ล้านบาทในปี 2561 และถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสมุนไพรเป็นอันดับ 8 ของโลก อย่างไรก็ตาม ตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการใช้สมุนไพรให้ได้ 360,000 ล้านบาท จึงต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งตนได้กำชับไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรื่องการพิจารณาขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว หากตรวจสอบพบว่า ปลอดภัยไม่มีสารพิษต้องอนุมัติภายใน 1 วัน หากเจอสิ่งที่เป็นพิษก็ต้องเอาผิดภายใน 1 ชั่วโมงเช่นกัน
“เรื่องนี้ต้องทำให้เร็ว เป็นอีโคโนมีสปีด เพื่อให้สามารถแข่งขันทางการตลาดกับประเทศอื่นๆ ได้ และจ่ายภาษีนำเม็ดเงินเข้าประเทศ ซึ่งวันนี้มีความร่วมมือกับทางบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เพื่อวางผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อ ส่วนความร่วมมือกับบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ก็เพื่อตีตลาดไทย เพราะประเทศไทยมีของดีเยอะ การจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดี อยากให้คนไทยเลิกเห่อของนอก บ้าแบรนด์เนม ทั้งที่ของก็เหมือนๆ กัน แต่ทำไมต้องไปจ่ายเพิ่มเป็น 10 เท่า หันมาใช้ของไทย เมดอินไทยแลนด์ เงินหมุนเวียนภายในประเทศ เศรษฐกิจก็เดินหน้า แต่สิ่งที่ต้องพัฒนา คือ การจะตีตลาดโลกได้ ต้องจัดทำบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม น่าเชื่อถือ น่าซื้อไปเป็นของฝาก เพราะต้องยอมรับว่าบรรจุภัณฑ์ที่ดี สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ของเราดีก็สามารถตั้งราคาสูงได้ และต้องไม่ทิ้งเรื่องคุณภาพ” นายอนุทินกล่าว
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัด สธ.กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดสมุนไพรในโลกมีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูง คือ อาหารเสริมและเวชสำอาง โดยปี 2561 ไทยมีมูลค่าการบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2.8 แสนล้านบาท มูลค่าการส่งออก 2.24 พันล้านบาท และถูกจัดให้มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจด้านสมุนไพรเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยมีขมื้นชัน เป็นโปรดักส์แชมเปียนที่ได้รับความนิยมจากตลาดโลก มูลค่าการตลาดประมาณ 570 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.82 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ โครงการนำสมุนไพรคุณภาพสู่ตลาดโลก ภายใต้แนวคิด ตำรับไทย มรดกโลก ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. การอบรมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 2. การเจรจาจับคู่ธุรกิจกับบริษัทชั้นนำ 3. การออกนิทรรศการแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ และ 4. การเพิ่มช่องทางการขายในร้านค้าปลอดภาษีอากร และบนเว็บการค้าที่มีชื่อเสียง
ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ตอนนี้เราเริ่มจับมือกับบริษัทกระจายผลิตภัณฑ์สมุนไพรรายใหญ่ 2 ราย คือ คิง เพาเวอร์ และซีพีออลล์ ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตสมุนไพรไทยผ่านเกณฑ์ส่งสินค้ามาจำหน่าย 11 แห่ง แต่ต้องปรับปรุงตัวเองเพื่อให้สอดรับกับตลาดก่อน อย่างการวางจำหน่ายที่คิง เพาเวอร์ เน้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเครื่องบิน ก็ต้องปรับขนาดผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม สามารถหิ้วขึ้นเครื่องได้ คือ ไม่เกิน 100 ซีซี ส่วนที่วางขายในซีพีออลล์จะเน้นกลุ่มคนไทย ก็จะปรับรูปแบบขนาดเล็ก ราคาจับต้องได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยด้วยการออกบูธตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วไทยมีผู้ผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพจำนวนมาก แต่ไม่เป็นที่รู้จัก ขนาดคนไทยเองยังไม่รู้และไม่กล้าใช้ ดังนั้น ต้องสร้างการรับรู้ให้มาก ส่วนบริษัทผู้ผลิตสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์มาให้กรมฯ พิจารณาได้ เพื่อขับเคลื่อนไปในรูปแบบเดียวกับ 11 บริษัทนี้
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ