ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนไทยในปี 2552-2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 96% ของครัวเรือนไทยทั้งหมดมีรายจ่ายเพื่อการกุศล (คือมีสมาชิกในครัวเรือนอย่างน้อย 1 คนที่มีรายจ่ายเพื่อการกุศลตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไปภายในระยะเวลา 1 ปี) โดยรายจ่ายในส่วนนี้ประกอบไปด้วย ค่าอาหาร/ของถวายพระ/ไหว้เจ้า และเงินทำบุญและการซื้อของให้แก่องค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้มูลค่าของรายจ่ายเพื่อการกุศลรวมทั้งประเทศในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท (6,200 บาทต่อครัวเรือนต่อปี) เพิ่มขึ้นจากประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาทในปี 2552 (5,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี) หรือ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.8% ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยทางเศรษฐกิจ (nominal GDP) ที่ 6.0% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน
สัดส่วนของรายจ่ายเพื่อการการกุศลต่อรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยลดลง จาก 2.8% ต่อรายได้ครัวเรือนในปี 2552 มาอยู่ที่ 2.6% ในปี 2560 โดยเป็นการลดการใช้จ่ายลงของครัวเรือนในทุกระดับชั้นรายได้ ซึ่งครัวเรือนรายได้ปานกลางมีอัตราการลดลงที่มากที่สุด ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากภาระหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ครัวเรือนมีแนวโน้มลดสัดส่วนการใช้จ่ายลงโดยเฉพาะส่วนที่เป็นรายจ่ายไม่ประจำ (discretionary spending)
ครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้มากกว่า แม้ครัวเรือนไทยจะทำบุญตามกำลังทรัพย์ที่มี (รายได้มากทำมาก รายได้น้อยทำน้อย) แต่เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของรายจ่ายเพื่อการทำบุญต่อรายได้ระหว่างครัวเรือนในระดับรายได้ต่าง ๆ แล้วจะพบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้สูงกว่า โดยในปี 2560 คนรายได้สูง 10% แรกมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ 1.4% ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 5.1% ทั้งนี้ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค
จากข้อมูลชุดเดียวกันนี้ อีไอซีทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้จ่ายกับพฤติกรรมในด้านอื่น ๆ โดยมีการควบคุมปัจจัยด้านรายได้ อายุ และช่วงเวลา พบลักษณะที่น่าสนใจระหว่างการใช้จ่ายเพื่อการกุศลกับพฤติกรรมในด้านอื่น ๆ ในช่วงปี 2552-2560 ดังต่อไปนี้
• ครัวเรือนในต่างจังหวัดมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนในกรุงเทพฯ โดยสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้ของครัวเรือนในต่างจังหวัดอยู่ที่ 2.8% ขณะที่สัดส่วนของครัวเรือนในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1.3%
• ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนนอกภาคเกษตร โดยครัวเรือนที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพในภาคเกษตร สัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้จะอยู่ที่ 3.3% ขณะที่ในส่วนของครัวเรือนนอกภาคเกษตรจะอยู่ที่ 2.5%
• ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุจะมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มี โดยครัวเรือนที่มีสมาชิกในครัวเรือนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอย่างน้อย 1 คนจะมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ 3.2% ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนของรายจ่ายดังกล่าวอยู่ที่ 2.3%
• ครัวเรือนที่หัวหน้าครอบครัวมีการศึกษาสูงกว่าจะมีรายจ่ายเพื่อการกุศลน้อยกว่า โดยครัวเรือนที่หัวหน้าครอบครัวมีระดับการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปจะมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ 1.7% ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนมีระดับการศึกษาต่ำกว่านั้น สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ 2.8%
• ครัวเรือนที่มีรายจ่ายเพื่อการซื้อสลากกินแบ่งจะมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าเล็กน้อย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 2.7% ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีการใช้จ่ายในสลากกินแบ่ง จะใช้จ่ายเพื่อการกุศลที่ 2.6% ต่อรายได้
ข่าวจาก โพสต์ทูเดย์, ธนาคารไทยพาณิชย์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ