ทำความรู้จัก “อธิบดีป่าไม้” หนุ่มที่ถูก “ทวี ไกรคุปต์” แย่งไมค์ขณะแถลงข่าว “ดำเนินคดีปารีณา”





หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้เคยเผยแพร่แล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561

 

จากเด็กหนุ่มที่รักความสนุกสนานไปวันๆ เพื่อนว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ถึงขั้นได้รับสมญานามว่า “คุณส่งเสริม” เพราะขัดใจใครไม่เป็น แต่เมื่อจะทำการใดจะถูกให้อยู่แนวหน้าเสมอ เพราะตัวใหญ่และไม่เคยเลยสักครั้งที่จะทิ้งเพื่อนก่อน

 

 

กระทั่งได้เข้าสู่การหล่อหลอมในวงการป่าไม้ ของคณะวนศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานศึกษาที่ในยุคหนึ่งถือว่ามีความแข็งแกร่งของความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องมากที่สุด ซึ่ง “เขา” ก็เป็นหนึ่งในเบ้าหลอมดังกล่าว ที่ถูกหล่อออกมาทำงานรับใช้ชาติ ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านความผิด ความถูก ผ่านความอัดอั้นและคลี่คลาย ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวยังคงวนเวียนไปผ่านไม่รู้จบ จากชีวิตการทำงานในฐานะข้าราชการคนหนึ่งในกรมป่าไม้

วันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง อรรถพล เจริญชันษา จากตำแหน่งรองอธิบดีกรมป่าไม้ ขึ้นสู่ตำแหน่ง อธิบดีกรมป่าไม้ ในวัยเพียง 52 ปี ท่ามกลางความโล่งอกของหลายคน ภายหลังจากหน่วยงานแห่งนี้ร้างราตำแหน่งหัวขบวนในระดับอธิบดีมาปีกว่า และในความยินดีของหลายๆ ฝ่ายย่อมมีเรื่องของความเคียดแค้นชิงชังจากความผิดหวังของผู้ที่คาดหวังว่าจะได้รับตำแหน่งนี้เช่นเดียวกัน

ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งจึงมีเรื่องโจมตี ใส่ร้ายป้ายสีอย่างหนัก แต่เขาก็รอดพ้นมาได้จากการต่อสู้พิสูจน์ตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าการเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ที่สมบูรณ์แบบเมื่อใด ไม่ได้หมายความว่าเป็นความสำเร็จสมบูรณ์สำหรับการทำงาน แต่กลับหมายความว่าเป็นการเริ่มต้นการทำงานอีกครั้งสำหรับหน้าที่ของผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานที่ถูกจับจ้องรอบทิศทาง อย่างกรมป่าไม้

“มติชน” มีโอกาสได้พูดคุยเกือบทุกแง่มุมของการทำงานและการใช้ชีวิต ของ “ว่าที่ อธิบดีกรมป่าไม้” คนใหม่ ถือเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ดูหนุ่มที่สุดในกรมป่าไม้ แห่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ เวลานี้

“ความจริงผมแทบจะไม่คิดเลยว่าอายุมากหรืออายุน้อย เพราะผมมั่นใจว่าผมผ่านงานมาเยอะ ประสบการณ์ที่เคยได้เจอและสั่งสมจากช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมานั้น ทำให้ผมสามารถมองงานทั้งในวันนี้และอนาคตออก แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันง่ายนะครับ เพราะขึ้นชื่อว่างานไม่มีอะไรง่ายอยู่แล้ว แต่ผมว่าผมจะรับมือกับมันได้”

 

 

แสดงว่าไม่หนักใจเลยกับการมารับตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ ในวัย 52 ปี

จะว่าไม่หนักใจก็ไม่ได้ เพราะงานในจุดนี้มันมีหลายเรื่องให้ต้องทำ เพียงแต่ผมบอกว่า การทำงานในกรมป่าไม้ตลอดตั้งแต่เรียนจบวนศาสตร์มา ผมผ่านและเจออะไรมากในแง่ของการต่อสู้ การเห็นปัญหา การแก้ปัญหา จึงมั่นใจว่าจะทำงานได้ อายุ 52 ปี จึงไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน

เริ่มต้นการเข้ามาอยู่ในแวดวงป่าไม้ได้อย่างไร?

ผมเรียนจบ ม.ศ.5 รุ่นสุดท้าย สายวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนสามเสน แต่เรียนก่อนอายุ 2 ปี ตั้งใจจะเรียนสถาปัตย์แต่สอบไม่ติด กลับมาติดวนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ สาเหตุอย่างหนึ่งที่ผมสอบติดวนศาสตร์ก็เพราะเขาไม่สอบภาษาอังกฤษ และผมเน้นเอาข้อสอบเก่ามาอ่านเลยได้คะแนนเยอะ

พอมาเรียนวนศาสตร์มันก็ชอบ ชอบที่มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทำให้เรารักกัน เข้าใจกัน ชีวิตนักศึกษาวนศาสตร์ในตอนนั้นสนุกมาก ไม่ค่อยได้เรียน เกเร กินเหล้า ตอนเรียนนี่ผมมีรุ่นพี่ที่เป็นไอดอลของผมเลย คือ พี่ต้อย ชีวะภาพ ชีวะธรรม พี่ต้อยเป็นวนศาสตร์ (วน.) รุ่น 48 ผม วน.49 ที่ วน.แต่ละรุ่นก็จะมีวงดนตรีประจำรุ่น แต่วงที่ดังที่สุดคือ วงฟอเรสเตอร์ 48 ซึ่งถือว่าดังที่สุดในเกษตรฯ เวลานั้น ผมไปดูแกเล่นทุกงาน พี่ต้อยเป็นทั้งนักร้องนำและเล่นกีตาร์ วงแกไปที่ไหนก็จะมีผมเต้นอยู่หน้าเวทีประจำ

กับ ผอ.ชีวะภาพ (ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า และหัวหน้าชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้) นี่ถือว่าเป็นคู่หูกันไหม เห็นเวลาออกปฏิบัติการหรือทำงานจะไปด้วยกันทุกครั้ง?

กับพี่ต้อย (ชื่อเล่น ผอ.ชีวะภาพ) เป็นมากกว่าคู่หู แต่เรียกว่าเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ก็ว่าได้ ทำงานรู้ใจกัน แล้วเราก็เรียนรู้การทำงานด้วยกันมา

สมัยเด็กๆ เป็นเด็กเรียนหรือเปล่า?

ไม่ใช่เด็กเรียนเลย ก็ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วๆ ไป แต่ชีวิตวัยรุ่นที่คณะวนศาสตร์ก็จะโลดโผนกว่าที่อื่นหน่อย เพราะนอกจากเรียนแล้วมีการออกฝึกงานต่างจังหวัด ผมมีบ้านอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ค่อยอยู่บ้าน จะไปอยู่หอพักที่มหาวิทยาลัยอยู่กับเพื่อนทำกิจกรรม ชอบทำกิจกรรม ร้องเพลง เล่นดนตรี กินเหล้าไปเรื่อย เลยเรียน 5 ปี จบตอนซัมเมอร์ หลังชาวบ้านเขา

เรียนจบแล้ว ทำงานที่กรมป่าไม้เลย?

พอเรียนจบไปสมัครงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกรมป่าไม้ ขึ้นไปทำงานบนดอยตุง ที่หน่วยจัดการต้นน้ำ 31 อยู่กับ ท่านดำรงค์ พิเดช ตอนนั้นท่านเป็นหัวหน้าหน่วยอยู่ที่นั่น ผมทำหน้าที่คุมคนงานไปปลูกป่า ปลูกต้นสน สนสามใบ ที่เราเห็นอยู่บนดอยตุงตอนนี้นั่นแหละ ทำงานอยู่ได้ 7-8 เดือน ช่วงที่พัก กลับมาบ้านที่กรุงเทพฯ เพื่อนที่เรียนจบจากต่างประเทศมาชวนไปสมัครงานกับบริษัทสหวิริยา ก็เลยลองไปสอบสัมภาษณ์ดู สอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ปรากฏว่าเขาเลือกผม ภาษาอังกฤษก็ไม่เท่าไหร่ แต่เขาเห็นว่าผมมีประสบการณ์ทำงานมาบ้าง ก็เลยได้ทำงานที่นี่ เป็นรองผู้จัดการสวนป่ายูคาลิปตัส ที่ จ.ราชบุรี ปลูกยูคาฯป้อนโรงงาน ทำอยู่ได้ 5 เดือนรัฐบาลมีคำสั่งปิดป่า

เมื่อปิดป่า กรมป่าไม้ขณะนั้นก็ต้องการคนดูแลป่าเพิ่ม ก็เปิดรับสมัครข้าราชการตำแหน่งเจ้าพนักงาน โดยเอานักวิชาการมหาวิทยาลัยเข้าไปทำงาน ผมก็สอบเข้ามาได้ และไปทำงานอยู่ที่หน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ จ.ราชบุรี หน้าที่ที่ต้องทำตอนนั้นคือออกลาดตระเวน ตรวจจับพวกลักลอบตัดไม้ ทำอยู่นาน 3 ปี มาคิดๆ คนที่เราจับได้มีแต่ชาวบ้าน ลิ่วล้อ จับกันไม่หมดไม่สิ้น หลายครั้งที่จับแล้วปล่อยออกมา กลับไปทำผิดเหมือนเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ในขณะที่กลุ่มตัวการ หัวเรือใหญ่จริงๆ ที่มาว่าจ้างชาวบ้านให้ทำผิด ซึ่งตอนนั้นก็จะเป็นพวกนักการเมืองท้องถิ่น หรือข้าราชการผู้ใหญ่ในพื้นที่กลับลอยนวล ผมก็คิดหนัก ไม่สบายใจ

“…งานกรมป่าไม้หัวใจหลักๆ คือการดูแลรักษาป่า
มีหลายภาคส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ผมต้องทำให้ได้คือเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
เพื่อว่าในอนาคตไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น
นักการเมืองหรือใครก็ตาม
จะไม่สามารถเข้ามาทำอะไรกับหลักการของเราได้ง่ายๆ….”

กระทั่งได้มีโอกาสเข้ามาที่กรมป่าไม้ จึงขอย้ายเข้ามาที่ส่วนกลาง มาทำที่สำนักป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า อยู่ที่นี่ได้ศึกษางานไปพร้อมกับออกปฏิบัติการในสนามหลายเรื่อง ที่ศึกษาจริงจังก็คือระเบียบ ขั้นตอนการทำงาน ขั้นตอนทางกฎหมาย

ที่ภูมิใจมากที่สุดคือการทำงานเป็นผู้ประสานงานบิน ทำหน้าที่บินตรวจป่า คอยดูตรงไหนมีการบุกรุกพื้นที่ป่าบ้าง ซึ่งก่อนหน้าที่ผมจะมาทำหน้าที่ตรงนี้ งานบินตรวจป่าจะเป็นเพียงการชี้เป้า เพื่อให้หน่วยพื้นดินเข้าไปตรวจสอบจับกุมอีกที แต่ยุคผมเป็นยุคแรกที่จะเอาเฮลิคอปเตอร์บินลงไปจับเองในพื้นที่ที่เกิดเหตุเลย เป็นงานที่สนุกและท้าทายอย่างมาก

การทำงานตรงนี้ทำให้เรามีพื้นฐานการมองพื้นที่ระยะไกล มองเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า การตรวจป่า โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ มองเห็นการบุกรุกป่าในมุมกว้าง ทั้งในรูปแบบที่ชาวบ้านบุกรุก กับผู้ประกอบการนายทุนบุกรุก วิเคราะห์ได้ รุกแบบไหน ใครรุก

ระหว่างที่ทำหน้าที่ตรงนี้ก็ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ ที่เกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิที่ดิน โดยเฉพาะการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบด้วย ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่กรมป่าไม้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก จากเดิมที่ทำงานอยู่หน่วยงานเดียว โดยเริ่มทำกับ ป.ป.ป. หรือ ป.ป.ช.ในปัจจุบัน ซึ่งมีกองที่ทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการทำผิดเกี่ยวกับเอกสารสิทธิที่ดิน ช่วยงานที่ ป.ป.ป.อยู่ 4 ปี

กลับมาอยู่ที่กรมป่าไม้เต็มตัวอีกครั้ง ทำอะไร?

กลับมาก็อยู่หน่วยไฟป่า ซึ่งงานไฟป่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามอยู่แล้ว อยู่ตรงนี้สอนให้เรารู้ยุทธวิธีต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องการฝึกอบรม การบังคับบัญชาคน งานไฟป่านั้นมีรูปแบบการฝึกทั้งเรื่องของระเบียบ การปฏิบัติ โดยผมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ชุดปฏิบัติการไฟป่า จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเลขาธิการมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด อยู่ตรงนี้อยู่ราวๆ 10 ปี ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ-สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ตั้งสำนักป้องกันรักษาป่าขึ้นมา ผมได้เข้าไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนยุทธการ จึงได้เข้าไปรีโนเวต ตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อป้องกันรักษาป่าทั้ง 4 ภาคขึ้นมา

เป็นคนตั้งชุดพญาเสือขึ้นมาด้วย?

จากหลักสูตรยุทธวิธีการลาดตระเวนป่า การตรวจค้น ตรวจจับ จับกุม ที่ต้องถ่ายทอดออกไปสำหรับเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ผมก็สนับสนุนให้มีชุดที่เรียกว่าพญาเสือขึ้นมา โดยคัดเลือกและส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกร่วมกับศูนย์สงครามพิเศษ กองทัพเรือ หรือหน่วยซีล ซึ่งปัจจุบันชุดนี้กลายเป็นครูฝึกประจำกรม และได้ถ่ายทอดความรู้ยุทธวิธีต่างๆ แก่รุ่นน้องมากมาย ล่าสุดทาง สปป.ลาว ยังขอให้ไปอบรมกับเจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าของเขาด้วย

มีงานปราบปรามชิ้นไหนที่จดจำมากที่สุด?

สมัยอธิบดี นิพนธ์ โชติบาล เป็นอธิบดีกรมอุทยาน มีการตั้งหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงขึ้นมา ตอนนั้นสถานการณ์การลักลอบตัดไม้พะยูงในประเทศไทยเลวร้ายมาก มีเหตุทุกวัน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ผมทำงานพื้นที่ทับลาน ปางสีดา เขาใหญ่ ที่มีไม้พะยูงชุกมาก สามารถจับหัวหน้าขบวนการรายใหญ่ชื่อ “เสี่ยถัง” ได้ จับได้ 2 วันเขาพยายามมาติดสินบน 2 ล้านบาท ก็จับซ้ำอีก ฐานพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ ตอนนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการยึดทรัพย์

เป็นคนตั้งชุดพยัคฆ์ไพรด้วยหรือเปล่า?

ตอนนั้นสมัยอธิบดี ฝน ธีรภัทร ประยูรสิทธิ เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ก็มีชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามการตัดไม้อยู่แล้ว ท่านอธิบดีให้พวกเรา คือผม พี่ต้อย (ชีวะภาพ) และในทีม ไปช่วยกันคิดชื่อว่าจะตั้งชื่ออะไรดี น่าแปลกใจมากที่เราได้ชื่อตรงกันเลยว่า “พยัคฆ์ไพร”

ที่บอกว่าตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษมามากมาย มีชุดอะไรบ้าง?

ผมตั้งเยอะจริงๆ นะ (หัวเราะ) ใครตามผมนี่จะรู้ว่าผมเป็นจอมตั้งชุดเฉพาะกิจ แต่ไม่ใช่ว่าตั้งแล้วตั้งเลยนะ ทุกชุดยังทำงานอย่างแข็งขัน อย่างกรมอุทยานฯมีหน่วยเสือไฟ ทำงานเรื่องไฟป่า กรมป่าไม้ก็มีหน่วยเหยี่ยวไฟ เรายังมีหน่วยน้ำผึ้งไพร ที่เอาเจ้าหน้าที่ผู้หญิงมาฝึกทั้งภาคสนามและภาคทฤษฎี สำหรับสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ชายด้วย

ป่าไม้ยุคนี้เน้นเรื่องการปราบปรามใช่ไหม?

ไม่ใช่เลยครับ งานป่าไม้มีมากกว่าเรื่องปราบปราม งานปราบปรามเป็นแค่ 1 ในหลายๆ งานของกรมป่าไม้ งานกรมป่าไม้หัวใจหลักๆ คือการดูแลรักษาป่า มีหลายภาคส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ผมต้องทำให้ได้คือเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ต้องทำให้คนที่ทำงานด้านนี้มีความเข้มแข็ง แข็งแรง เพื่อว่าในอนาคตไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอะไรก็ตาม นักการเมืองหรือใครก็ตาม จะไม่สามารถเข้ามาทำอะไรกับหลักการของเราได้ง่ายๆ เรื่องนี้ สำคัญเลย งานกับชุมชน งานกับชาวบ้าน ก็สำคัญไม่แพ้กัน

เรื่องการเมืองกับการจัดการป่าไม้เกี่ยวข้องกันไหม?

แทบจะแยกกันไม่ออกครับ ถ้าเราได้ผู้นำดี เอาจริงเอาจัง ไม่มีนอกไม่มีในก็ถือว่าเราโชคดีไป แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ก็จะเกิดปัญหาทันที ผมว่าตอนนี้โชคดีที่รัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้ ท่าน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ท่านเข้าใจการทำงาน ถือเป็นยุคที่สามารถทำให้เราทำงานที่ปัดเป่าอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่เหมาะสมออกไปได้มาก ซึ่งการวางพื้นฐานของการบังคับใช้กฎหมายให้มีความแข็งแรงจะทำให้ต่อไปแม้ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ตาม แต่หลักการตรงนี้ของเราเป็นมั่น ก็จะไม่ทำให้ระบบของเราสั่นคลอนได้ง่ายๆ

กำลังจะเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ ต้องเตรียมตัวอะไรอย่างไรบ้าง?

ไม่ต้องเตรียมอะไรเลยครับ ผมพร้อมทำงานอยู่แล้ว ผมได้รับเสนอชื่อให้เป็นอธิบดี ผมไม่เคยขอใครเลย ไม่แม้กระทั่งการบนบานศาลกล่าว ดังนั้นผมจึงไม่จำเป็นต้องไปแก้บนที่ไหน จะมีก็เพียงแต่ก่อนจะเข้าไปนั่งในห้องทำงาน ผมจะให้แม่ไปนั่งที่โต๊ะทำงานผมก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะแม่สอนเสมอ ตั้งแต่เล็กจนโต เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต

ทำงานเยอะขนาดนี้ มีเวลาให้ครอบครัวอย่างไร?

โชคดีมากครับ ครอบครัวผมน่ารัก มีลูกสาว 1 คน อายุ 18 ปีแล้ว ผมตั้งชื่อ รักพนา ชื่อเล่น ขนมปัง คือผมกับภรรยาตกลงกันว่าให้ผมตั้งชื่อจริงลูก และให้ภรรยาตั้งชื่อเล่น ซึ่งเขา (ภรรยา) เป็นคนชอบกินขนมปัง เขาเลยตั้งชื่อลูกขนมปัง ส่วนผมออกแนวดูแลป่า เลยเป็นที่มาของ รักพนา ตอนนี้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประเทศแคนาดา มีเรื่องราวมีข่าวอะไรผมก็จะส่งให้เขาดู ให้เขารับรู้ตลอด เขาก็แฮปปี้กับผมมาก

 

 

ลูกสาวไม่อยากทำงานด้านอนุรักษ์เหมือนพ่อบ้างหรือ?

ไม่มาทางนี้เลยครับ เขาจะชอบเรื่องของการเรียนภาษามากกว่า แต่สิ่งที่เขาเหมือนกับผมมากก็คือความอึด ความอดทน พบกับความยากลำบากมากแค่ไหนไม่มีงอแง เขาจะเห็นผมเป็นไอดอลของเขา

เวลาว่าง ทำอะไร?

ถ้าว่าง วันหยุดนอนครับ พักผ่อน ถ้าอยู่กรุงเทพฯผมพยายามนอนให้ได้ 7 ชั่วโมง ถ้าเป็นต่างจังหวัด แค่ 5 ชั่วโมงพอ เพราะอากาศไม่เหมือนกัน ต่างจังหวัดแค่ 5 ชั่วโมงตื่นมาก็สดชื่นแล้ว ผมว่าเราทำงานหนักต้องดูแลตัวเองให้มาก ให้พร้อมกับการรับสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ ออกกำลังกายก็สำคัญ ผมวิ่ง ปั่นจักรยาน งานอุ่นไอรักที่ผ่านมาผมก็ไปปั่นมาร่วมกับท่านรัฐมนตรี และท่านอธิบดีท่านอื่นๆ ในกระทรวง

ถือเป็นอีกความภูมิใจและประทับใจอีกงานหนึ่ง

 

 

“แม่”สอนเสมอ ใช้ความซื่อสัตย์ชี้นำชีวิต

เมื่อราว 3 ปีก่อน ขณะที่ผู้สื่อข่าวกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งสัมภาษณ์ นายอรรถพล เจริญชันษา ในขณะที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง รองอธิบดีกรมป่าไม้ใหม่ๆ ระหว่างที่กำลังคุยอย่างเคร่งเครียดในห้องประชุมเล็กๆ มีเสียงเคาะประตูดังขึ้น ทุกคนก็งง ว่าใครมาเคาะ เพราะห้องประชุมนั้นสามารถเปิดประตูเข้ามาได้เลย อีกอึดใจต่อมา เจ้าของเสียงเคาะนั้นเปิดประตู ทุกคนในห้องประชุมก็หันไปมองพร้อมกัน

“อ้าว แม่ มาถึงแล้วเหรอครับ”

ทุกคนก็หันไปตามเสียงที่เรียกแม่กันอีกครั้ง ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเสียงรองอธิบดีคนใหม่นั่นเอง

ท่านรองอรรถพล (ในขณะนั้น) บอกกับทุกคนในห้องประชุมว่า แม่ผมเองครับ คือวันนี้มารับตำแหน่งใหม่ ผมให้แม่มานั่งเก้าอี้ผมก่อน

ทำเอาทุกคนอมยิ้มไปตามๆ กัน…

 

 

นอกจากความจริงจังในหน้าที่การงาน ว่าที่อธิบดีกรมป่าไม้ยังชมชอบการร้องเพลง เล่นดนตรี

“ชอบฟังเพลงเฮฟวี่เมทัล สมัยเรียนที่โรงเรียนสามเสน ตอน ม.ต้น “เอ็ดดี้ แวน เฮเลน” ดังมาก มีเพื่อนๆ บอกว่า ผมหน้าคล้ายฝรั่ง เพื่อนคนหนึ่งเลยเรียกผมว่า “เอ็ดดี้” ก็มีคนเรียกเอ็ดดี้ตลอด พอมา ม.ปลาย “สตีฟ เดวิส” นักสนุกเกอร์ดังอีก เพื่อนเรียกว่า “สตีฟ” อยู่พักใหญ่จนเรียนจบมัธยม เข้าไปเรียนที่เกษตร เผอิญว่าเพื่อนคนที่เคยเรียกผมว่าเอ็ดดี้สอบติดเกษตรด้วยกัน เลยไปเรียกผมว่า “เอ็ดดี้” ที่นั่นจึงกลายเป็นที่มาของชื่อเอ็ดดี้ทุกวันนี้ แต่ชื่อเล่นจริงๆ ของผมคือ “ก้อง” ซึ่งตอนนี้ก็มีแต่คนที่บ้านที่เรียกแบบนี้”

สำหรับวงดนตรีพยัคฆ์ไพร ใจดี ของกรมป่าไม้นั้น อธิบดีเอ็ดดี้เล่าว่า เริ่มจากทางพี่ต้อย (ชีวะภาพ ชีวะธรรม) ตั้งขึ้นมา โดยได้รวบรวมเอาเจ้าหน้าที่ในกรมป่าไม้ที่มีความสามารถ ความสนใจเรื่องนี้ เป็นกิจกรรมเสริมสำหรับการทำงานมวลชน ไม่ว่ากับชาวบ้านในพื้นที่ หรืองานภายในของกรมป่าไม้เอง เพลงก็จะมีทั้งเพลงแนวตลาด และเพลงสำหรับการสร้างจิตสำนึกเรื่องทรัพยากร ทั้งป่า ทั้งสัตว์ป่า ซึ่งผมก็ไปร่วมร้องเพลงกับเขาบ้าง ส่วนใหญ่เขาก็จะเชิญผมไปทุกครั้งแหละ ถ้าว่างก็ไปร่วมตลอด

“แนวเพลงที่ชอบก็จะออกร็อกแบบหนักๆ แต่ตอนนี้ก็คงต้องเบาๆ ลงแล้ว (หัวเราะ) ชอบ

สกอร์เปี้ยนส์ เดอะ บีทเทิลส์ ถ้าเป็นเพลงไทยก็ เอ็นโดรฟิน ก็พอจะร้องกับเขาได้บ้าง ดนตรีก็พอจะเล่นกีตาร์ได้ แต่ในวงเขาไม่ให้เล่น ให้ร้องเพลงอย่างเดียว เพลงที่ร้องบ่อยก็จะเป็นเพลงคนดีไม่มีวันตาย อันนี้ชอบร้องกับพี่ต้อย เพลงเก่าๆ ของวงดิ อินโนเซ้นท์ครับ”

ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: