“…กรณีเมื่อผู้เข้าพักอาศัยหมดสิทธิเข้าพักอาศัย เพราะเหตุตามข้อ 14.1 (ถึงแก่กรรม) 14.2 (ย้ายออกนอกกองทัพบก หรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด) ผู้นั้นต้องย้ายออกจากอาคารบ้านพักของหน่วยตามกำหนดเวลาในข้อ 15 และตามสัญญาที่ทำไว้กับหน่วยเมื่อตอนเข้าพักอาศัยในบ้านพักดังกล่าว โดยให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยเดิมในขณะเกิดเหตุ อันเป็นมูลให้หมดสิทธิการเข้าพักอาศัยเป็นผู้สั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย แล้วให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยใหม่ เป็นผู้พิจารณาลงทัณฑ์ฐานประพฤติไม่สมควร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476…”
กรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีคำสั่งให้ทหารเกษียณทุกคนออกจากบ้านหลวงหรือพื้นที่หลวงในส่วนของกองทัพบกภายในเดือน ก.พ. 2563 แต่กลับมีการแยกการบังคับใช้ออกเป็นสองส่วน โดยมีการยกเว้นให้นายทหารที่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ว. และองคมนตรี
ขณะเดียวกัน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ปัจจุบันยังมีนายทหารระดับ ‘นายพล-พันเอก’ ยังไม่คืนบ้านพักอีกเกือบ 100 คน ซึ่งจำนวนนี้เป็นแค่ส่วนจากกองทัพบกเท่านั้น ยังไม่ได้ตรวจสอบอีกว่า กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
โดยในจำนวนนี้ ทั้ง ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยังให้สัมภาษณ์ยอมรับผ่านสื่อว่า ยังพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในค่ายทหาร มีเพียง ‘บิ๊กป้อม’ รายเดียวที่ยอมรับว่า พักอาศัยอยู่บ้านส่วนตัว ไม่ได้อยู่ในค่ายแล้ว ?
ส่งผลให้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ พร้อมด้วยบรรดานายพล และพันเอก รวมถึงนายทหารระดับสูงในกองทัพ ที่อาจพักอาศัยอยู่ในบ้านหลวงดังกล่าวว่า เข้าข่ายรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาท ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 ประกอบประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2543 หรือไม่
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงผ่านสื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประวิตร ตลอดจนถึงอดีตนายทหารเกษียณที่พักบ้านหลวง ไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องระเบียบบ้านพักสวัสดิการภายในหน่วยนั้น ๆ ที่มีการอนุโลม ต้องไปดูว่า เขียนไว้อย่างไร
เพื่อให้สังคมเข้าใจกระจ่างชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา นำระเบียบการพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการของกองทัพบก มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ. 2553 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. (ขณะนั้น)
นิยามคำว่า ‘ผู้พักอาศัย’ หมายถึง ข้าราชการกระจำการ และลูกจ้างประจำการ ที่ได้รับอนุมัติให้เข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของทางราชการ
หมวด 1 การแบ่งมอบความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ ข้อ 7 ระบุว่า อาคาร บ้านพัก หรือที่พักอาศัยของทางราชการทุกชนิดของกองทัพบก ให้อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยราชการต่าง ๆ
หมวด 2 การเข้าพักอาศัย ข้อ 11 ระบุว่า ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของทางราชการจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
11.1 เป็นข้าราชการประจำการ หรือลูกจ้างประจำ สังกัดกองทัพบก ซึ่งมีคำสั่งให้รับราชการอยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล
11.2 เป็นผู้ที่ไม่มีบ้านพักอาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือของคู่สมรส อยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล
11.3 เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการสงเคราะห์จากทางราชการให้มีอาคาร บ้านพักที่เป็นอยู่ของตนเองหรือของคู่สมรส อยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล
11.4 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการ
ข้อ 12 ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของทางราชการต้องเป็นข้าราชการประจำและลูกจ้างประจำในหน่วยนั้น ๆ
ข้อ 13 ลำดับความเร่งด่วนในการพิจารณาให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัย มีดังนี้
13.1 ที่พักอาศัยประสบภัยธรรมชาติ หรือวินาศภัยอื่น ๆ จนไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้
13.2 ถูกทางราชการสั่งย้ายมาสังกัดหน่วยที่มีบ้านพัก และไม่มีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักของหน่วยเดิม
13.3 ถูกศาลพิพากษาขับไล่ให้ออกจากที่พักเดิม
13.4 ถูกทางราชการเวนคืนที่ดิน และต้องย้ายออกจากที่พักอาศัย
13.5 ย้ายจากส่วนราชการต่างจังหวัด
13.6 พักอาศัยอยู่กับผู้อื่นในบริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมไม่ถูกสุขลักษณะ
13.7 เหตุผลอื่น ๆ
หมวด 3 การหมดสิทธิเข้าพักอาศัย ข้อ 14 ระบุว่า ให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของทางราชการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หมดสิทธิเข้าพักอาศัยในกรณีหนึ่งกรณีใด โดยมีทั้งหมด 9 ข้อ สาระสำคัญที่เป็นประเด็นขณะนี้ เช่น
14.1 ถึงแก่กรรม
14.2 ย้ายออกนอกกองทัพบก หรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด
14.3 ผู้มีสิทธิได้เข้าพักอาศัย แต่ให้คู่สมรส บุตร ญาติพี่น้อง หรือบุคคลอื่นเข้าพักอาศัยแทน โดยผู้มีสิทธิพักอาศัยมิได้พักอาศัยรวมอยู่ด้วย
14.4 ผู้มีสิทธิมิได้เข้าพักอาศัย แต่ให้บุคคลอื่นสวมสิทธิหรือเช่าพักอาศัยแทน เป็นต้น
ข้อ 15 การย้ายออกจากที่พักอาศัยของทางราชการ โดยมีสาระสำคัญ เช่น
15.1 ผู้หมดสิทธิพักอาศัยตามข้อ 14.1 (ถึงแก่กรรม) จะต้องย้ายออกจากอาคาร บ้านพักอาศัย ภายใน 365 วัน นับแต่วันที่ผู้มีสิทธิพักอาศัยถึงแก่กรรม สำหรับผู้หมดสิทธิตามข้อ 14.2 (ย้ายออกนอกกองทัพบก หรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด) พร้อมด้วยบริวาร จะต้องย้ายออกจากอาคารบ้านพักอาศัยภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งย้ายออกจากกองทัพบก หรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด เป็นต้น
ข้อ 16 ผู้พักอาศัยในส่วนแบ่งของหน่วยใด เมื่อย้ายออกจากหน่วยนั้น ถือว่าหมดสิทธิพักอาศัย ให้ไปใช้ที่พักส่วนแบ่งของหน่วยใหม่ หรือให้โอนสับเปลี่ยนส่วนแบ่งระหว่างหน่วยกันได้ กรณีหน่วยใหม่ไม่สามารถสนับสนุนห้องพักให้ได้ ให้ร้องขอพักอาศัยในที่พักของหน่วยเดิมเป็นการชั่วคราว โดยหน่วยเจ้าของส่วนแบ่งที่พักเดิมยินยอมให้พักอาศัยอยู่เป็นการชั่วคราวได้
หมวด 5 เบ็ดเตล็ด ข้อ 20 ระบุว่า ให้กรมสวัสดิการทหารบก และผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลอาคารที่พักอาศัยของทางราชการ มีอำนาจออกระเบียบปลีกย่อยที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ได้ตามความจำเป็น
ข้อ 21 หากปรากฏผู้ใดปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบนี้ หรือระเบียบปลีกย่อยที่กรมสวัสดิการและผู้บังคับหน่วยทหารที่ได้กำหนดไว้ตามข้อ 20 ให้กรมสวัสดิการทหารบก หรือผู้บังคับหน่วยทหาร มีสิทธิเข้ายึดครองห้องพักอาศัยตามที่ได้รับการแบ่งมอบความรับผิดชอบจากกองทัพบกได้ตามสมควร โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ และให้ผู้พักอาศัยจะต้องไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น ที่เกิดจากการจัดการดังกล่าว อีกทั้งมีอำนาจเข้าตรวจค้นห้องพักโดยมิต้องแจ้งให้ผู้พักอาศัยทราบ กรณีมีข้อมูลว่าผู้พักอาศัยมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย และให้พิจารณาดำเนินการลงโทษทางวินัยตามความเหมาะสม หากไม่ได้ผลให้รายงานกองทัพบกเพื่อพิจารณาดำเนินการแก่ผู้ปฏิบัติฝ่าฝืนตามควรแก่กรณีเป็นราย ๆ
ข้อ 24 บทลงโทษ ระบุว่า
24.1 กรณีเมื่อผู้เข้าพักอาศัยหมดสิทธิเข้าพักอาศัย เพราะเหตุตามข้อ 14.1 (ถึงแก่กรรม) 14.2 (ย้ายออกนอกกองทัพบก หรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด) ผู้นั้นต้องย้ายออกจากอาคารบ้านพักของหน่วยตามกำหนดเวลาในข้อ 15 และตามสัญญาที่ทำไว้กับหน่วยเมื่อตอนเข้าพักอาศัยในบ้านพักดังกล่าว โดยให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยเดิมในขณะเกิดเหตุ อันเป็นมูลให้หมดสิทธิการเข้าพักอาศัยเป็นผู้สั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย แล้วให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยใหม่ เป็นผู้พิจารณาลงทัณฑ์ฐานประพฤติไม่สมควร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476
24.2 กรณีหากต้องมีการดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อผู้หมดสิทธิการเข้าพักอาศัย ให้ผู้บังคับหน่วยประสานกับกรมสวัสดิการทหารบก เพื่อดำเนินการต่อไป
นี่คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีการเข้าพักอาศัย ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัย เหตุผลในการย้ายออก ระยะเวลาที่ต้องย้ายออก รวมถึงบทลงโทษหากไม่ย้ายออกจากบ้านพักทหาร ของข้าราชการกองทัพบก
ประเด็นที่น่าสนใจตามที่ พล.ท.คงชีพ ระบุว่า กรณีอดีตนายทหารเกษียณที่ยังไม่คืนบ้านหลวง มิได้ทำผิดกฎหมาย เพราะมีการอนุโลมนั้น จากการตรวจสอบเฉพาะระเบียบบ้านพักของกองทัพบก ไม่พบว่ามีการระบุถึงข้ออนุโลมดังกล่าวไว้แต่อย่างใด ?
หรืออาจเป็นไปได้ว่า อาจมีการเขียน ‘อนุโลม’ บางอย่าง ตามข้อ 20 ที่อนุญาตให้กรมสวัสดิการ และผู้บังคับหน่วยทหาร สามารถออกอำนาจระเบียบปลีกย่อยที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ได้ หรือไม่
อ่านเพิ่มเติม : https://www.isranews.org/isranews/85823-isranewss-85823.html
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ