ภูเก็ตกักตัวบุคลากรแพทย์ 112 คน





ผอ.โรงพยาบาลวชิระฯ แจงนทท.ฮังการีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ แต่ตรวจพบติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 เหตุเพราะไม่ให้ข้อมูล ต้องกักตัวบุคลากรทางการแพทย์ 112 คน

วันนี้ (6 เม.ย.63) ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลาง จังหวัดภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ โรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 17/2563 เพื่อติดตามสถานการณ์โควิด-19 และการออกมาตรการเพิ่มเติม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ในการประชุมครั้งนี้ นายเเพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ชี้แจงกรณีการโพสต์ข่าวและแชร์ข้อมูลการเสียชีวิตของชาวฮังการีในโซเชียลมีเดียว่า ชายชาวฮังการี อายุ 25 ปี ได้ประสบอุบัติเหตุขับขี่รถจักรยานยนต์ล้มเองได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดที่บริเวณสามัคคีซอย2 บ้านใสยวน ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพศูนย์ช่วยเหลือนักท่องที่ยวองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต หรือศูนย์ไข่มุก ได้ช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาลฉลอง ในเวลาประมาณ 04.30 น.ของวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ต่อมาในเวลาประมาณ 05.30 น. ได้นำส่งต่อมายังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งขณะนั้นผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ยังพูดคุยได้ โดยมีอาการชาแขนขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง และมีอาการมึนเมา โดยผู้ป่วยไม่ได้แจ้งประวัติความเสี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือประวัติการเดินทางมาพื้นที่เสี่ยงแต่อย่างใด

หลังจากมาถึงที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เจ้าหน้าที่ได้ทำการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย พบว่ากระดูกสันหลังต้นคอท่อนที่ 6 หัก และเส้นประสาทไขสันหลังบริเวณต้นคอได้รับบาดเจ็บ (ฉีกขาด) จึงได้ทำการผ่าตัดทันที ในเวลาประมาณ 15.30 น. ของวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยหมอสัญญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกสันหลัง 2 ท่าน รวมทั้งวิสัญญีแพทย์และพยาบาล หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ แขนขาทั้งสองข้างยังขยับไม่ได้ เป็นผู้ป่วยที่นอนติดเตียง หลังจากนั้นคนไข้ก็ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยตลอด ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม มีการย้ายหวอดไปอีกตึกหนึ่ง ก่อนที่ในเวลาประมาณ 02.00 น.ของวันที่ 28 มีนาคม คนไข้บ่นว่ามีอาการปวด แพทย์จึงให้ยาแก้ปวด และเริ่มทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ร่างกายมีการฟื้นฟูแขนขา

ถัดมาในวันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อนจากซอยบางลา หาดป่าตองมาเยี่ยม ทำให้ทางทีมแพทย์เริ่มสงสัยว่าผู้ป่วยจะมีประวัติไปเที่ยวที่บางลามาหรือไม่ ก่อนทำการสอบถามอีกครั้ง เมื่อซักไปซักมาจนทราบว่าผู้ป่วยอยู่ที่บางลาประมาณ 2 สัปดาห์ และก่อนหน้าจะมาที่ภูเก็ตนั้นได้เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย เพื่อนบ้าน จึงสันนิษฐานว่าเป็นเคสที่มีความเสี่ยงต้องสงสัยโควิด-19 ทางแพทย์จึงได้ทำการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ในวันที่ 30 มีนาคม และผลออกมาวันที่ 31 มีนาคม พบว่าเป็นบวก จึงเข้าสู่กระบวนการทันที โดยพบว่าผู้ป่วยมีอาการไม่ค่อยดี มีอาการไข้สูงและหายใจลำบากขึ้น จนกระทั่งวันที่ 2 เมษายน ก็พบว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด และในวันที่ 3 เมษายนก็ยังมีอาการเป็นไข้เริ่ม และมีอาการหยุดหายใจในเวลาประมาณ 02.40 น. ทีมแพทย์ได้ทำการปั๊มหัวใจช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่สามารถที่จะกู้ชีวิตผู้ป่วยได้

ทั้งนี้สรุปสาเหตุของการตายในเคสนี้ได้ว่า เกิดจากไขสันหลังบาดเจ็บ เนื่องจากกระดูกสันหลังสุดของต้นคอหัก จากอุบัติเหตุจราจร ร่วมด้วยอาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 รวมระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล 10 วัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจพอสมควร เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้แจ้งประวัติความสุ่มเสี่ยงโควิด 19 ตั้งแต่แรก ทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าไปช่วยเหลือกลายเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อทั้งหมด โดยจากการตรวจสอบพบว่ามีที่เข้าไปเกี่ยวข้องสัมผัสผู้ป่วยทั้งหมด 112 คน สัมผัสความเสี่ยงต่ำ 8 คน สัมผัสความเสี่ยงสูง 104 คน โดยใน 104 คนให้พักเพื่อจะเก็บตัว 14 วัน แบ่งเป็นที่โรงแรมแกรนด์สุพิชฌาย์, มอ.ภูเก็ต และที่บ้าน รวม 104 คนและขณะนี้ได้รับการตรวจไปแล้ว 94 คน พบว่าผลเป็นลบ และรอตรวจอีก 18 คน

“เรื่องที่ต้องฝากไปถึงสื่อมวลชน เพื่อแจ้งไปถึงประชาชนและนักท่องเที่ยว หากรายใดที่มีประวัติชัดเจนขออย่าได้ปิดบังข้อมูล เพราะจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงจำนวนมาก” นายแพทย์เฉลิมพงษ์ กล่าว

ข่าวจาก คมชัดลึกออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: