“พิชัย” เผย รัฐไม่ควรขู่ดำเนินคดีคนลงทะเบียน5000 ชี้ ปชช.เดือดร้อน มาขอความช่วยเหลือจากรัฐ ไม่ใช่เรื่องผิด





วันนี้ (8 เม.ย.) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า โดยหลักการแล้วเห็นด้วยกับรัฐบาลในการออกมาตรการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจจะรุนแรงมากทั้งระหว่างวิกฤตการณ์และภายหลังวิกฤตการณ์และหากจำเป็นก็อาจจะต้องใช้เงินมากกว่านี้ ซึ่งในประเทศต่างๆก็ได้เริ่มดำเนินการกันแล้วโดยมีการใช้เงินประมาณ 10-15% ของจีดีพี ทั้งนี้ยังต้องดูรายละเอียดว่าจะมีการช่วยเหลือในลักษณะใดบ้าง และจะได้ผลหรือไม่

โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลังที่จะมีการกู้เงินมาใช้ถึง 1 ล้านล้านบาท โดยอยากเห็นการใช้เงินจำนวนมหาศาลดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกทาง ไม่ได้ใช้อย่างสะเปะสะปะเหมือนในอดีต และต้องเกิดประโยชน์ในระยะยาวตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พูดไว้เอง

และอยากให้ช่วยผู้มีรายได้น้อยที่ลำบากที่สุดก่อนแล้วไล่ขึ้นมา อีกทั้งอาจจะต้องเผื่อเงินไว้หากสถานการณ์ยาวนานกว่านั้น โดยการขยายการช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท จาก 3 เดือนเป็น 6 เดือนถือว่าถูกต้องแล้ว และอาจจะต้องนานกว่านั้นด้วย

อย่างไรก็ดี ตามที่รัฐบาลคาดว่าจะมีผู้มาขอรับการช่วยเหลือ 3 ล้านคน แต่กลับมีประชาชนขอรับการช่วยเหลือสมัครเข้ามาถึง 24 ล้านคน ทำให้รัฐบาลต้องขยายเป็น 9 ล้านคน แถมยังข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี พรบ. คอมพิวเตอร์ กับผู้กรอกข้อมูลไม่ตรง เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ

เพราะในภาวะเช่นนี้ประชาชนเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมาก ย่อมอยากได้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลซึ่งไม่ใช่ความผิด และในเมื่อรัฐจะใช้เงินจำนวนมหาศาลก็อยากให้พิจารณาว่าประชาชนที่เดือดร้อนมากก็ควรได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด

ไม่ว่าจำนวนจะเท่าไหร่ก็ตาม หากเข้าเกณฑ์ที่จะต้องช่วยเหลือโดยอย่ากำหนดที่จำนวน แต่กำหนดตามเกณฑ์ที่เหมาะสมที่ควรได้รับ ทั้งนี้ในอดีตรัฐบาลยังแจกเงินให้คนไปเที่ยว และให้คนไปช้อปปิ้งแบบสะเปะสะปะได้เลย

ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น การออกซอฟท์โลน 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยธุรกิจ SMEs เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และเป็นไปตามที่ตนได้เคยเสนอไว้แล้วแต่แรก โดยอยากให้มีการต่อรองในการรักษาระดับการจ้างงานเพื่อไม่ให้คนตกงานเหมือนในหลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว

และรัฐบาลอาจจะสนับสนุนเพิ่มในส่วนนี้ด้วย อีกทั้งอยากให้ ธปท. ได้ส่งเสริมให้ทุกธนาคารทำตามแบบอย่างของ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสินที่มีการหยุดดอกเบี้ยและหยุดเงินต้นเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภาวะวิกฤติในข่วงนี้

อย่างไรก็ดีในส่วนของ ธปท. ที่จะจัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชนวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ธปท.สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนที่มีเครดิตเรทติ้งไม่น้อยกว่า investment grade ขึ้นไปนั้น อยากให้ ธปท. ฟังความเห็นของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีต รองนายกฯ อดีต รมว. คลัง และ อดีต ประธาน ธปท.

ที่ให้ความเห็นว่า ธปท. ควรดำเนินการผ่านธนาคารพาณิชย์จะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ เพราะการดำเนินการดังกล่าวอาจจะผิดกฎข้อบังคับของ ธปท. เองได้ อีกทั้ง ธปท. ไม่ควรไปเข้าไปทำหน้าที่แทนธนาคารพาณิชย์ จะมาอ้างเหมือนกับธนาคารกลางของสหรัฐดำเนินการก็อาจจะไม่ถูกนัก

เพราะสถานะของประเทศต่างกัน นอกจากนี้ยังอยากให้ ธปท. รักษาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับต่ำ ถ้าเป็นไปได้ควรอยู่ต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนธุรกิจส่งออกของไทยให้ฟื้นกลับมาได้บ้าง

ในปัจจุบัน กิจกรรมทางธุรกิจดูเหมือนจะหยุดชะงักทั้งหมด ซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคตอันไกล้ได้ ทั้งนี้เพราะห่วงว่าอีกไม่นานนัก ประชาชนจำนวนมากจะกังวลว่าจะอดตายมากกว่าจะติดโวรัสโควิด-19ตาย เพราะหากวงจรธุรกิจหยุดชะงักแล้ว การจะฟื้นเศรษฐกิจจะทำได้ยากมาก

ประชาชนจำนวนมากจะไม่มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว โดยคาดกันว่าอาจจะมีคนตกงานกันถึงกว่า 5 ล้านตน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาสนับสนุนให้สามารถทำกิจกรรมทางธุรกิจได้อย่างน้อย 40-50% โดยหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ไปในตัวด้วย

โดยไม่ปิดกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมด โดยจะต้องมีการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม แต่ธุรกิจยังคงสามารถดำเนินไปได้บ้าง ในบางสาขาธุรกิจ โดยอยากให้ มีการพัฒนาระบบออนไลน์ของราชการให้สมบูรณ์เต็มที่ เพื่อที่สามารถทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้โดยไม่ต้องไปเองที่หน่วยราชการ

ถือเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาระบบราชการในภาวะวิกฤตนี้ไปด้วย นอกจากนี้การพัฒนาธุรกิจ delivery ตามที่ได้แนะนำแต่แรก ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ แม้กระทั่ง นักศึกษาจบใหม่ น่าจะหันมาทำเรื่องนี้ในช่วงเวลานี้ เพราะหากสถานการณ์ลากออกไป ยังสามารถหารายได้ประคองชีวิตได้ เป็นต้น

ในภาวะวิกฤตนี้ ต้องยินดีที่รัฐบาลได้เริ่มการใช้นโยบายการเงินของ ธปท. ร่วมกับนโยบายการคลังของ กระทรวงการคลังเพื่อนำมาแก้ปัญหาพร้อมกันเหมือนที่ตนได้แนะนำแต่แรก แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดการช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง

โดยหวังว่าจะมีการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันรัฐบาลน่าจะถือโอกาวนี้ปรับปรุงระบบราชการให้ทันสมัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไปในตัว ทั้งนี้รวมถึงประชาชนเองก็จะต้องคิดในกรอบใหม่เพื่อเอาตัวรอดในวิกฤตการณ์นี้ให้ได้ โดยเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ และหลังจากวิกฤตการณ์แล้วประเทศไทยจะพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: