เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกตื่นเต้นมากสำหรับกำหนดการงานรับปริญญา เพราะอย่างน้อยมันก็คือวันสำคัญวันหนึ่งของชีวิตที่จะได้อยู่กันพร้อมหน้าทั้งครอบครัวและเพื่อน ๆ แอดมินthaijobsgovขอแสดงความยินดีในวันแห่งความสุขของว่าที่บัณฑิตใหม่ทุกคน ใครที่รับปริญญาไปแล้วก็ขอให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวยิ่ง ๆ ขึ้นไป ส่วนใครที่กำลังเตรียมตัว ก็ขอให้ในวันงานจริงเป๊ะที่สุด ราบรื่นที่สุด มีความสุขมากที่สุด
แล้วจะเตรียมตัวยังไงให้เป๊ะที่สุดในวันจริง? ตามมาเช็คความพร้อมแต่ละข้อกัน !
ภาพประกอบจาก lifeinthelostworld.com
1. หาเงินก้อนสแตนบายไว้
ปฏิเสธไม่ได้ว่างานสำคัญ เงินย่อมสำคัญมาก ๆ ทันทีที่เรียนจบแล้ว หาเงินไว้รองานรับปริญญาไว้เลยที่ประมาณ 1x,xxx-2x,xxx บาทเป็นขั้นต่ำ (***รวมค่าเดินทาง+ที่พัก+ค่าอาหาร+เบ็ดเตล็ด อย่างถูกที่สุดแล้ว สำหรับบัณฑิตและครอบครัวไม่เกิน4คน)
2.จัดการเรื่องที่พักและการเดินทาง ทันทีที่ได้รับกำหนดการที่แน่ชัดแล้ว
กำหนดการในแต่ละสถาบันไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าจะคาดเดา เพราะเราสามารถทราบได้จากข้อมูลปีก่อน ๆ (สังเกตจากบัณฑิตรุ่นพี่) และกำหนดการจริงที่จะประกาศล่วงหน้ามาหลายเดือน เมื่อใดก็ตามที่กำหนดการฉบับจริงออกประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ให้รีบวางแผนการเดินทางและที่พักรับรองแขกคนสำคัญที่จะมาร่วมแสดงความยินดีกับคุณ
– สำหรับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ไกลจากสถานที่จัดงานมาก ๆ ให้นัดหมายเฉพาะแขกคนสำคัญจริง ๆ โดยยึดความสะดวกเป็นหลัก ถ้าเป็นครอบครัวใหญ่มากอาจจะส่งตัวแทนไปสัก 1-3 คนในงานจริงแล้วค่อยกลับมาฉลองที่ภูมิลำเนาในภายหลังก็ได้
– ควรสำรวจโรงแรมล่วงหน้า เพื่อการตัดสินใจที่สบายใจมากขึ้น มีตัวเลือกมากขึ้น การไปเลือกโรงแรมในระยะใกล้วันงานมาก ๆ จะได้แต่โรงแรมที่ราคาแพงและตัวเลือกไม่มาก เพราะมีคนจองเกือบเต็มแล้ว
– ควรเลือกพาหนะที่กะทัดรัด เช่น รถยนต์ขนาดเล็กไม่กี่คัน เพื่อเลี่ยงปัญหาที่จอดรถและการจราจรติดขัด
– ถ้าจะให้ดีที่สุด ควรหามอเตอร์ไซค์สแตนบายในวันซ้อมใหญ่และวันรับจริง เพื่อความสะดวกรวดเร็วระหว่างบัณฑิตและญาติ (มหาวิทยาลัยบางแห่งไม่อนุญาตให้บัณฑิตพกอุปกรณ์การสื่อสารใด ๆ และกระเป๋าตังค์เข้าร่วมพิธี อีกทั้งยังจัดให้จุดจอดรถห่างไกลไปจากหอประชุม บัณฑิตต้องวางแผนกับญาติให้รัดกุมที่สุด)
3. วางแผนเรื่องการแต่งหน้า-ทำผม
– ในกรณีที่ต้องการจะแต่งหน้าเอง ควรทำการบ้านมาอย่างดีล่วงหน้า เช่น หาเครื่องสำอางที่มีคุณภาพตามรีวิวต่าง ๆ ในเน็ต, ฝึกแต่งหน้าทำผมด้วยตัวเอง ยิ่งซักซ้อมมาดีเท่าไหร่ ในวันจริงยิ่งเป๊ะที่สุด ผิดพลาดน้อยที่สุด (ข้อดีก็คือ นอกจากจะประหยัดเงิน ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ไม่ต้องตื่นเช้ามาก ๆ เพื่อต่อคิวกับช่างแต่งหน้า)
– ในกรณีที่ต้องการจะจ้างช่างแต่งหน้าประจำตัว ควรศึกษาข้อมูลมาอย่างดีว่าคนนั้นมีผลงานเป็นใครบ้าง? มีรีวิวจากลูกค้าจริงหรือไม่? ราคาสมเหตุสมผลดีรึเปล่า? ใช้เครื่องสำอางยี่ห้อใดเกรดใดบ้าง? รับคิวได้วันไหนเวลาใดบ้าง? เลือกให้ดี ศึกษาให้มาก เพราะคุณจะต้องฝากความเป๊ะไว้กับมือพวกเขาเป็นสำคัญ (ข้อดีก็คือ สะดวกสบาย มีคนที่มีฝีมือทำให้ อาจจะจ่ายแพงกว่าแต่งเอยหน่อย หรือต้องสัปหงกมาต่อคิวคนอื่น แต่โดยรวมจะเรียบร้อยดีไม่มีหลุด เราได้ความสวยสมใจ ช่างได้โปรไฟล์ไว้เป็นเครดิตงาน)
***ทริคการแต่งหน้า : ควรแต่งในเฉดสีที่เข้มกว่าลุคประจำวัน(ไปเรียน/ไปทำงาน)แค่1สเตป เป็นเฉดสีธรรมชาติที่สุด อย่าเข้มมาก เพราะภาพถ่ายจะปรับสีได้ยากกว่าการแต่งอ่อน ๆ แล้วค่อยไปปรับภาพให้เข้มภายหลัง ที่สำคัญก็คือควรให้ทุกอย่างออกมาเรียบร้อยที่สุด ไม่ขัดกับระเบียบการแต่งกายที่มหาวิทยาลัยได้ประกาศไว้
4. วางแผนเรื่องการถ่ายภาพ
– หากต้องการจะถ่ายเอง ไม่สำคัญว่ากล้องจะแพงหรือถูก แต่ให้มั่นใจว่าจะสามารถหาโลเคชันสวย ๆ พร้อมต้อนรับแขกทุกคนที่มาแสดงความยินดีได้อย่างทั่วถึง (ยิ่งมีเทคนิคดี มีความสามารถในการแต่งภาพเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องจ้างช่างภาพให้เปลืองเงินแต่อย่างใด)
– หากต้องการจะจ้างช่างภาพส่วนตัว ควรมองหาช่างภาพล่วงหน้าหลายเดือนเพื่อทำการจองคิวให้ได้ช่างภาพฝีมือดีไว้กับตัว (เปิดดูผลงาน ดูเทคนิคและราคาจ้างของแต่ละคนให้แน่ใจก่อนตัดสินใจ หาได้ไม่ยากในfacebookตามแฟนเพจหรือกลุ่มช่างภาพต่าง ๆ มีทั้งแบบจ้างเฉพาะบัณฑิตคนเดียวและแบบแชร์ค่าใช้จ่ายกับเพื่อนหลายคน สุดแท้แต่จะตกลงกับช่างภาพ ถ้าจะให้ดีที่สุดและมั่นใจที่สุด ควรเช็ครีวิวด้วยว่าเคยถ่ายกับใครบ้าง? เคยเบี้ยวงานรึเปล่า? เพื่อภาพที่ดีที่สุดในวันสำคัญที่สุด)
5. วางแผนเรื่องการนัดหมาย
ทันทีที่ทราบกำหนดการเป็นแน่ชัดแล้ว ให้วางแผนดังต่อไปนี้
– ประกาศผ่านโซเชียลทุกช่องทางของตัวเองว่ามีวันใดบ้าง เพื่อให้ทุกคนที่ทราบข่าวได้สามารถเตรียมตัวล่วงหน้า
– เคลียร์คิวการนัดพบรายวันให้ดีโดยยึดเอาญาติของบัณฑิตเป็นสำคัญ ส่วนคนอื่น ๆ เช่น เพื่อนที่ทำงาน, เพื่อนต่างสถาบัน, รุ่นน้อง ค่อยจัดลำดับรองลงมา อาจจะนัดหมายให้พวกเขามาวันซ้อมหรือวันจริง แต่คิวต้องไม่ชนกับญาติจนทุกอย่างยุ่งเหยิงเกินไป ถ้าพวกเขาไม่สะดวกมาในวันจริง อนุโลมให้ส่งของขวัญมาแสดงความยินดีหรือจัดเลี้ยงกันเป็นการส่วนตัวต่างหากในภายหลังก็ได้
– บางสถาบันที่มีกำหนดการเคร่งครัดมาก เช่น มหาวิทยาลัยรัฐบางแห่งที่ระดับงานเป็นงาน “พระราชพิธี” จะไม่อนุญาตให้บัณฑิตพกสิ่งของใดเข้าไปได้เลยนอกจากการแต่งกายให้ถูกระเบียบเท่านั้น (เท่ากับว่าเข้าไปโดยตัวเปล่า) ทั้งในวันซ้อมใหญ่และวันรับจริง ควรนัดหมายญาติให้ดีว่าจะนัดพบกันที่จุดไหน ฝากของมีค่าไว้กับใครบ้าง (ถ้าเป็นไปได้ควรหาคนสนิทกันมาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับญาติอีกทีหนึ่ง เหมือนกับเป็นตัวกลางช่วยประสานงานระหว่างบัณฑิตกับญาติโดยเฉพาะ)
6. เคร่งครัดเฉพาะการแต่งกาย ชิลให้ได้ในสถานการณ์เฉพาะหน้า
อ่านและทำตามกฎระเบียบทุกข้อของบัณฑิตให้ดี ถึงแม้ว่าจะทำให้อึดอัดใจหน่อยก็ต้องอดทน เพื่อความเรียบร้อยของส่วนรวม ส่วนอะไรที่จะเป็นเรื่องหยุมหยิม มีมาให้เจอเรื่อย ๆ นอกจาก “สติ” ที่ใช้แก้ปัญหาแล้ว ต้องวางใจให้ร่มเย็น อย่าเก็บมาเป็นประเด็นทะเลาะกันด้วยเช่นกัน (ทั้งวันซ้อมย่อย วันซ้อมใหญ่ ไปกระทั่งวันจริง 3-4วันนี้ บัณฑิตเหนื่อยนะจ๊ะ)
7. ดูแลสุขภาพให้ดี
ตั้งแต่วันซ้อมไปจนถึงวันรับจริง รักษากายใจให้พร้อม อย่านอนดึกเกินจำเป็น เดี๋ยวแป้งจะไม่กินหน้า แล้วจะไม่สวยเป๊ะ, อย่าทานอาหารที่มีพิษหรือเสี่ยงจะทำให้ขับถ่ายบ่อย เพราะชุดครุยถอดยาก(อีกทั้งในขณะที่พิธีกำลังดำเนินไป ต้องอยู่ในความเรียบร้อยเป็นเวลาหลายชั่วโมงจึงจะออกไปทำธุระส่วนตัวได้) อย่าพาตัวเองไปอยู่ในภาวะเสี่ยง เช่น เมาหนักจนลืมตื่นให้ทันกำหนดงาน, เมาแล้วขับจนประสบอุบัติเหตุ อย่าให้วันสำคัญในไม่กี่วันที่รอคอยมาหลายปีต้องพังลงเพียงแค่ข้อผิดพลาดอันเล็กน้อย
8. เตรียมคนช่วยถือของหรือรถเข็นให้พร้อม
โดยเฉพาะในวันงานจริง เตรียมใจได้เลยว่าจะได้ของขวัญจากหลายคนกองรวมกันมหึมา ตั้งแต่ของครอบครัว, รุ่นพี่รุ่นน้อง, เพื่อนที่ทำงาน, เพื่อนสถาบันอื่น ฯลฯ บัณฑิตตัวคนเดียวคงหอบเองไม่ไหวหรอก
9. อย่าขี้หลงขี้ลืม
อย่าลืมเช็คตัวเองและญาติด้วยว่าลืมของสำคัญอะไรรึเปล่า เพราะความวุ่นวายหลายสิ่งอาจทำให้เราหลงลืมทิ้งอะไรได้โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นขยะหรือของมีค่า อย่าให้คนอื่นต้องมารับภาระเราโดยใช่เหตุ “บัณฑิตต้องรับผิดชอบตนเองจึงจะถือว่าเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้ความสามารถที่แท้จริง”
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ