ราชกิจจาฯประกาศ 3พรฎ.เว้นภาษีช่วยเอสเอ็มอีฟื้นจากโควิด-19





เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา3 ฉบับ เพื่อยกเว้นภาษีธุรกรรมให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เน้นช่วยเหลือสภาพคล่อง-ปรับโครงสร้างหนี้

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไป ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ก็ได้รับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจนี้พอๆกัน แต่ปัญหาหนักในรายเล็กก็คือในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งล่าสุด รัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อเข้ามาช่วยให้ธุรกิจรายเล็กๆอย่างเอสเอ็มอี ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการช่วยยกเว้นภาษีธุรกรรมช่วยเอสเอ็มอีครึ่งหนึ่งของรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ตามมาตรการรัฐ 2 เท่าของรายจ่ายเงินเดือนพนักงานช่วง 1 เม.ย.-31 ก.ค.2563 และสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ 

โดย เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา(พรฎ.) 3 ฉบับ เพื่อยกเว้นภาษีแก่ธุรกรรมตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 20191 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 54 ก  วันที่ 12 กรกฎาคม 2563 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกอบด้วย

1.พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 707 )พ.ศ.2563 มีเหตุผลคือ เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้แก่ผู้ประกอบการดังกล่าว 

2.พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 708 ) พ.ศ. 2563 มีเหตุผลคือ โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายไม่เกินห้าร้อยล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละสองร้อย ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นค่าจ้าง สำหรับการจ้างงานลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้แก่ผู้ประกอบการ และส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานภาคธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ

3.พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 709) พ.ศ.2563 มีเหตุผลว่า  โดยที่ปัจจุบันลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ได้ เนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น จะเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายการลงทุนของภาคเอกชน อันจะเป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง สมควรกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระราชกฤษฎีกาทั้ง 3 ฉบับนั้นสอดรับกับมาตรการที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทระทรวงคลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เตรียมวงเงินสำหรับค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3 หมื่นล้านบาท คาดว่า จะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ 4.5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2-3 เดือนนี้  หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ซึ่งมาตรการดังกล่าวไม่ต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้ทันที

รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เป็นผู้ดำเนินการ โดยขนาดกองทุน อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ใช้วงเงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน  โดยจะให้ สสว. ปล่อยกู้เงื่อนไขผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการคนตัวเล็กรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีสถานะปกติ แต่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน และผู้ประกอบการที่เป็นหนี้เสียกับระบบสถาบันการเงินด้วย โดยจะเสนอให้ ครม. พิจารณาสัปดาห์หน้า  

ข่าวจาก TNN

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: