“บิ๊กต่อ”ตร.มหาดเล็ก ย้ำตำรวจที่ดีต้องไม่มักมากในลาภผล เที่ยงตรงต่อหน้าที่





“พล.ต.ต.ต่อศักดิ์” ย้ำตำรวจที่ดีต้องไม่มักมากในลาภผล เที่ยงตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ ดำรงตนในหลักยุติธรรม ชี้หากใช้ตำแหน่งหน้าที่มากระทำด้วยความไม่เป็นธรรมประชาชนก็จะหมดศรัทธา

วานนี้(26 ก.ค. 2563) พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Torsak Sukvimol ระบุว่า การที่จะเป็นตำรวจที่ดีไม่ได้วัดกันที่พื้นฐานการศึกษาว่าความรู้น้อยหรือมาก

ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพื้นฐานของความเป็นคนดี มีคุณธรรม เที่ยงตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ มีความรับผิดชอบตามสายงานที่ได้รับมอบหมาย การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบการปฏิบัติต่างๆก็คงไม่ยากเกินกว่าที่ปฏิบัติ เพราะหากเกิดผิดพลาดก็พอจะให้อภัยได้ แต่หากการใช้ความรู้ที่มี ใช้ตำแหน่งหน้าที่มากระทำด้วยความไม่เป็นธรรมไม่เหมาะสมก็จะขาดศรัทธา และถูกตำหนิติเตียน ดังเช่นที่มีตัวอย่างบ่อยๆในทุกวันนี้

เนื่องจากการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์นั้นต้องใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ถ้าผู้ใดไม่ยึดมั่นในอุดมคติตำรวจแล้วยากที่จะเข้าไปนั่งในจิตใจประชาชนได้

อุดมคติตํารวจจึงหมายถึงแนวทางไปสู่ความเป็น “ยอดตำรวจ” เป็นจริยธรรมที่ส่งเสริมให้ตำรวจเป็นผู้มีวินัยดี เป็นหลักธรรมที่ตำรวจพึงระลึกไว้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นหลักยึดเหนี่ยวในการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่กระทำการให้เป็นการเสื่อมเสียในเกียรติของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แม้ตนเองจะต้องเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตเผชิญกับความยากลำบากทั้งปวง ซึ่งตรงกับปณิธานและอุดมคติที่ตำรวจทุกนายต้องท่องหน้าแถวทุกเช้าก็คือ

“เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่มักมากในลาภผล บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ดำรงตนในยุติธรรม กระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอด้วยชีวิต”

อุดมคติของตำรวจ ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ จวน อุฏฐายีมหาเถรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหานายก องค์ที่ 19 เขียนไว้ดีมากและจบลงด้วยรักษาความไม่ประมาทเสมอด้วยชีวิต บางทีตำรวจผู้ที่อยู่กับกฎหมาย มองประชาชนเหมือนคนไม่รู้กฎหมาย จึงทำตัวกร่าง จึงเป็นด่านของความอยุติธรรมอันดับแรกก่อนจะถึงมือของอัยการและศาล ตำรวจจึงมีอิทธิพลต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ก่อนจะเป็นตำรวจจึงต้องเตรียมตัวรับแรงกดดันต่างๆเพื่อเข้าสู่อาชีพที่ต้องคำสาปนี้ด้วยความภูมิใจ ประชาชนต้องการอยากให้ตำรวจมีความยุติธรรม แต่ก็มีความกดดันบางอย่างทำให้เกิดความเครียด แต่ถ้าทำงานทุกอย่างด้วยความไม่ประมาท ก็จะอยู่รอดปลอดภัยตลอดเกษียณอายุราชการ

ถึงแม้อาชีพของตำรวจจะเปรียบเสมือนอาชีพที่ถูกสาป บางทีทำดีก็เสมอตัว ทำไม่ดี ก็ถูกลงโทษทั้งทางวินัยและสังคม มีทั้งคนรักและคนเกลียด แต่ด้วยจิตวิญญาณของตำรวจ ถึงแม้จะเป็นอาชีพที่ถูกสาป ก็ยังยินดีที่จะเป็นตำรวจ

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: