เปิดรายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เสนอครม.พิจารณา รื้อระบบใหม่หวังพลิกกลับมามีกำไรให้ได้
เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณา รายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน และได้มีการหารือกันกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในแผนฟื้นฟูให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา
โดยรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.นั้น น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ที่ประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. โดยกรมการขนส่งทางบก จะนำเสนอครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ ได้แก่
- แนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง โดยมีโครงข่ายหลัก จำนวน 162 เส้นทาง และให้ ขสมก.บริหารจัดการเดินรถตามแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ทั้งนี้ ให้กรมการขนส่งทางบก พิจารณาปรับปรุงเส้นทางให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ให้ครอบคลุมพื้นที่และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งในอนาคตต่อไป
- ให้ ขสมก.มีสิทธิได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางที่มีการกำหนดใหม่ หรือเส้นทางเดินรถที่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ก่อนผู้ประกอบการขนส่งรายอื่น ในกรณีที่ ขสมก.ไม่ประสงค์เดินรถในเส้นทางดังกล่าว ให้กรมการขนส่งทางบก โดยการอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไป
- นโยบายการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ให้ ขสมก.จัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Single price) ในอัตรา 30 บาท/คน/วัน/ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว โดยในอนาคตอาจปรับเพิ่มหรือลดอัตราค่าโดยสารเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ ขสมก. จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ดังนี้
- การเสนอขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.62 ที่เห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับเดิม) เป็นเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับปรับปรุงใหม่) โดยให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และจ้างเอกชนเดินรถให้บริการ (รถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสาร NGV จำนวน 1,500 คัน
- อนุมัติให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สำหรับโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด
- อนุมัติในหลักการให้รัฐบาลรับภาระหนี้สินของ ขสมก. โดยจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ของ ขสมก. เมื่อ Ebitda เป็นบวก (ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลรับภาระชำระดอกเบี้ยของ ขสมก.แล้ว) ทั้งนี้ ยอดหนี้คงค้างที่รัฐบาลรับภาระจะเป็นยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 กรณี Ebitda เป็นบวกแค่ 1 หรือ 2 ปี แล้วกลับมาเป็นลบ ในหลักการปีถัดไป รัฐจะไม่ชำระหนี้เงินต้นให้
- อนุมัติหลักการเพื่อขอสนับสนุนเงินอุดหนุนจากภาครัฐ จำนวน 7 ปี โดยเป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ ก็ยังไม่มีวาระเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู ขสมก. เข้าไปยังที่ประชุมแต่อย่างใด จากที่คาดว่าจะมีการเสนอแผนดังกล่าวได้ภายในเดือนต.ค.นี้
ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ได้เคยเปิดเผยข้อมูลว่า ขสมก. ถือเป็นบริการสาธารณะที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาถึง 41 ปี และ ขสมก.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องมาแก้ไขปัญหาหนี้ โดยการแก้ปัญหาจะถือเป็นการรีเซ็ต เช่น การหยุดการชำระดอกเบี้ยไว้ก่อน เพราะเจ้าหนี้ก็คือกระทรวงการคลัง หรืออาจจะเป็นการยกหนี้ หรือจะทยอยผ่อนเงินต้นไปเรื่อยๆ แต่ต้องหลังจากที่ขสมก.จะมีกำไรก่อน ส่วนสิ่งที่ ขสมก.จะได้คือ จะไม่มีภาระหนี้สินและดอกเบี้ย รวมถึงสามารถวัดประสิทธิภาพของ ขสมก.ได้ว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งสำคัญการดำเนินการทุกอย่างต้องไม่กระทบการให้บริการประชาชน
หากแผนฟื้นฟูได้รับการอนุมัติ ก็จะทราบชัดเจนว่าจะมีกำไรหรือไม่ และหากขสมก.ยังไม่สามารถทำกำไรได้อีก ทั้งที่มีการช่วยตัดภาระทุกอย่างไปแล้ว ก็ต้องกลับมาพิจารณาว่าจะแปลงสภาพ ขสมก. อย่างไรให้มีประสิทธิภาพต่อไป
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ