ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย หนุนรัฐค่อยๆเปิดประเทศ หวั่นหากไม่เปิดในช่วงปลายปีนี้จะมีธุรกิจท่องเที่ยวปลดคนงานจำนวนมาก
วันนี้ ( 14 ต.ค.63) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนกันยายน 2563 พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 32.5 จุด จากเดือนที่ผ่านมา 32.3 จุด ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่ผ่านมา แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ดัชนีต่ำที่สุด 24.8 จุด หากไม่มีการทยอยเปิดประเทศไตรมาสสุดท้ายของปี อาจเห็นภาพการลดคนงานเพิ่มมากขึ้น แนะรัฐใช้ศักยภาพระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ที่ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ ดึงต่างชาติเข้ามาเป็นฐาน Work From Home ของโลก
โดยข้อเสนอการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน คือ ควบคุมราคาสินค้าให้ประชาชน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เปิดการท่องเที่ยวเพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว ดูแลสถานการณ์ด้านการเมืองให้มีเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นการลงทุน ขณะเดียวกัน รัฐควรเร่งรัดใช้งบประมาณ และเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนหาแนวทางลดภาระหนี้นอกระบบของครัวเรือน และกระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลที่จะเข้ามาในช่วงโค้งสุดท้ายของปี คาดว่ารัฐบาลใช้เม็ดเงิน 5 หมื่นล้านบาท และภาคประชาชนราว 6 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากเศรษฐกิจฟื้นตัวจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนได้ 2-3 รอบ หรือราว 2-3 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะติดลบ 7-8% จะลดเหลือ ติดลบ 4-5%
ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจส่งผลกระทบให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ทั้งในมุมของผู้บริโภค และนักลงทุนปรับตัวลดลง เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะหมุนเวียนน้อยกว่าสถานการณ์ปกติ ทำให้ไตรมาส 4 เม็ดเงินหมุนเวียนราว 1-1.5 แสนล้านบาท เศรษฐกิจไตรมาส 4 อาจติดลบ 6-7%
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ