โพลเผยผลสำรวจ “นายกฯตู่” ได้ไปต่อ ชี้ คุมความขัดแย้งได้ คนส่วนใหญ่เห็นผลงานรัฐบาล





ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจนายกฯตู่ได้ไปต่อ ชี้ คุมความขัดแย้งคนในชาติได้ คนส่วนใหญ่เห็นผลงานรัฐบาล

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง นายกฯ ตู่ ได้ไปต่อ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,477 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา

เมื่อถามความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.7 ระบุด้านสุขภาพ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้บัตรประชาชนใบเดียวใช้ได้ทุกโรงพยาบาล รองลงมาคือ ร้อยละ 95.5 ระบุด้านคมนาคม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลงานถนนเส้นทางต่างระดับเชื่อมภูมิภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 94.6 ระบุ ด้านการศึกษา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลงานความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษ ฝาบ้านไม่ครบสี่ด้าน จะดูแลจนจบปริญญาตรี มีงานทำ

นอกจากนี้ ร้อยละ 94.5 ระบุด้านเศรษฐกิจการศึกษา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กนักเรียนยากจนพิเศษมีทักษะดี มีงานทำรายได้ดี ในขณะที่ ร้อยละ 94.4 ระบุ ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกิดโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ร้อยละ 94.0 ระบุด้านคมนาคม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลงานรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของคนเมือง ร้อยละ 93.8 ระบุผลงานระดับโลก รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชามีผลงานรับมือวิกฤตโควิดได้อันดับหนึ่งของโลก ร้อยละ 92.0 ระบุด้านเศรษฐกิจ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลงานโครงการ คนละครึ่ง แก้ปัญหาปากท้อง กระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ถูกจุดตรงเป้า ร้อยละ 91.7 ระบุ ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรขยายเวลา และเร่งแก้ปัญหาโครงการ คนละครึ่ง ให้ดีที่สุด เช่น ขยายฐานคนมีสิทธิมากขึ้น แก้ระบบฐานข้อมูลที่ผิดพลาด ระบบขัดข้อง ร้านค้าโกงลูกค้าลดจำนวนสินค้า โก่งราคา เป็นต้น และร้อยละ 89.4 ระบุ ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรเปิดประเทศกระตุ้นท่องเที่ยว ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังวิกฤตโควิด-19

ที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.7 ระบุ ความขัดแย้งของคนในชาติ ปัญหาบ้านเมืองยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ในขณะที่ร้อยละ 25.3 ระบุ ควบคุมไม่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.1 เห็นด้วยที่ควรมีนายกรัฐมนตรีคนกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมือง เพื่อทำประโยชน์ให้คนทั้งประเทศมากกว่า เอื้อประโยชน์จัดสรรงบให้พื้นที่ฐานเสียงของตนเท่านั้น ในขณะที่ร้อยละ 9.9 ไม่เห็นด้วย

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงบุคคลที่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในสถานการณ์แบบนี้ มากที่สุด พบว่า อันดับที่หนึ่งส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 ระบุ เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทิ้งห่างอันดับสอง หลายเท่า คือนาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 15.0 อันดับสาม สูสีขึ้นมาเทียบใกล้เคียงอันดับสองคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 14.7 ตามด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 7.3 และอื่นๆ เช่น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นต้น ร้อยละ 3.7 ตามลำดับ

ผศ.ดร.นพดลกล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ตอนนี้ ณ เวลานี้ คนส่วนใหญ่ยังคิดว่ารัฐบาลและทุกฝ่ายช่วยกันควบคุมสถานการณ์ความขัดแย้งของคนในชาติเอาไว้ได้ และคนส่วนใหญ่ยังเห็นผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในด้านต่างๆ เช่น ด้านสุขภาพที่รับมือวิกฤตโควิดได้อันดับหนึ่งของโลก ด้านคมนาคมที่สร้างเส้นทางต่างระดับเชื่อมภูมิภาคของประเทศ เช่น ภาคอีสานได้สำเร็จในยุคนี้และรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของคนเมือง ในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของโลก และยังมีผลงานด้านความเสมอภาคทางการศึกษาที่ช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษที่ฝาบ้านไม่ครบสี่ด้านในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่แรกเข้าเรียนช่วยเหลือทุกอย่างจะขยายผลถึงปริญญาตรีมีงานทำเมื่อเรียนจบ และยังช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองมีทักษะดีมีงานทำรายได้ดีระหว่างการศึกษา ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นต้น ส่งผลทำให้ฐานสนับสนุนของประชาชนให้ “นายกฯ ตู่ได้ไปต่อ” ในท่ามกลางคนไทยทุกคนที่มีจิตใจเป็นกลาง ไม่ใช้มิจฉาทิฏฐิต่อกัน

ผศ.ดร.นพดลกล่าวต่อว่า นายกฯตู่ได้ไปต่อ เพราะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากที่สุดกับสถานการณ์ของประเทศปัจจุบันที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้ด้วยการสนับสนุนของหลายพรรคการเมือง เสมือนนายกรัฐมนตรียืนอยู่บนแพลอยน้ำที่ต่อขึ้นมาจากหลายส่วนสะท้อนให้เห็นว่าสังคมการเมืองไทยมีหลายขั้วไม่ใช่แค่สองขั้วที่เรียกขานกันว่าเป็นพวกสลิ่มกับพวกชังชาติเท่านั้น จึงไม่ง่ายที่จะเกิดการเผชิญหน้าเหมือนบางยุคบางสมัยเพราะห้วงเวลานี้สังคมไทยมีหลายขั้วหลายกลุ่ม

“ดังนั้น ไม่ควรมองการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เป็นศัตรูกัน ถ้าการเคลื่อนไหวของม็อบไม่รุนแรงบานปลายถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญในสังคมที่อาจจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของคนส่วนใหญ่ภายในประเทศให้สำนึกรู้คุณแผ่นดิน ปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติอย่างเข้มแข็งพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์โดยไม่หวั่นไหว แต่คนที่ทำผิดกฎหมายต้องถูกจัดการอย่างเคร่งครัดเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมทำตามๆ กันจนอาจกลายเป็นโจทย์ที่ยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอันจะเป็นอันตรายต่อความรักความสามัคคีของคนในชาติด้วยความหลากหลายบนแผ่นดินเดียวกัน” ผศ.ดร.นพดลกล่าว

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: