รู้จัก “พล.อ.มิน อ่อง ลาย” ผู้นำยึดอำนาจในพม่า 1ในลูกบุญธรรม พล.อ.เปรม





“ในบางสถานการณ์ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องล้มล้างรัฐธรรมนูญ”

วรรคทองสำคัญของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ที่ถูกตีพิมพ์ในนสพ.เมียวดี ทำให้ข่าวลือการรัฐประหารยึดอำนาจในเมียนมากระหึ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นข่าวลือท่ามกลางสถานการณ์ที่กองทัพเมียนมา แสดงท่าทีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของ นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เป็นฝ่ายกวาดชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย

ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 โดยคว้าที่นั่งในสภาไปถึง 346 ที่นั่ง แบ่งเป็น สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 258 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) และสภาชนชาติ หรือสภาสูง 138 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง)

ยัดเยียดสถานะฝ่ายค้านให้แก่ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา ( USDP) พรรคร่างทรงของกองทัพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนของกองทัพอีกหน โดย USDP มีเสียงในสภาล่าง 26 ที่นั่ง และสภาชนชาติ 7 ที่นั่ง (ลดลงจากเดิมสภาละ 4 ที่นั่ง)

แม้กองทัพเมียนมา จะออกมาสยบข่าวลือ ด้วยการออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า จะมุ่งมั่นปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

พร้อมปฏิเสธข้อครหาว่า กองทัพต้องการยึดอำนาจ ยกเลิกรัฐธรรมนูญจากวรรคทองของพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ด้วย โดยระบุว่า เป็นข้อสันนิษฐานที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงขององค์กรบางแห่งและสื่อบางสำนัก

ซึ่งการออกมาสยบความลือดังกล่าว ก็เนื่องจากนานาชาติ ต่างจับตาสถานการณ์ภายในเมียนมาอย่างใกล้ชิด โดย องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และ 16 สถานทูตชาติตะวันตก ได้ออกแถลงการณ์ จี้ให้กองทัพเคารพผลการเลือกตั้ง

พร้อมๆกับให้ยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตย ด้วยการจัดประชุมรัฐสภาชุดใหญ่ เลือกประธานสภาฯ และผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้

แต่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะถึงเวลาเปิดประชุมรัฐสภาชุดใหม่

กองทัพเมียนมากลับตัดสินใจล้มหนทางประชาธิปไตย ด้วยการจับกุม นางออง ซาน ซูจี พร้อมด้วย นายอู วิน มินต์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำพรรคคนอื่นๆด้วย

มีรายงานด้วยว่า หลังจากมีการจับกุมแกนนำพรรค NLD ทหารได้เข้าตรึงกำลังในกรุงเนปิดอว์และย่างกุ้ง และยังมีการตัดสัญญาณระบบทั้งทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตภายในประเทศเมียนมาด้วย

ระหว่างรอยืนยันข่าวการรัฐประหารในเมียนมา

สปอร์ตไลน์ต่างส่องไปยัง พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของกองทัพเมียนมา ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้

ตามประวัติ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่ปี 2554

ปัจจุบันอายุ 65 ปี เกิดที่ทวายในครอบครัวชนชั้นกลาง บิดาเป็นข้าราชการฝ่ายวิศวกรรมโยธา

เคยเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ก่อนเปลี่ยนมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ได้เป็นทหารและไต่ระดับขึ้นสู่ตำแหน่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว ผ่านการเป็นผู้บัญชาการรัฐมอญ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกรมทหารภาคสามเหลี่ยมในรัฐฉาน เป้ยผู้บัญชาการกองยุทธการพิเศษที่ 2 หน่วยบัญชาการทหารภาครัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง และเสนาธิการร่วมกองทัพพม่า เป็นต้น

คนไทยรู้จักดี ในฐานะเป็นบุตรบุญธรรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ผู้ล่วงลับ

วันที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาลงนามแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ พล.อ.เปรม ที่ทำเนียบองคมนตรี ได้เผยความรู้สึกตอนหนึ่งว่า เหมือนสูญเสียบิดา

“อายุของพล.อ.เปรมห่างจากพ่อของผมเพียง 1 ปี และพ่อของผมได้เสียชีวิตเมื่อปี 2545 และหลังจากนั้น 10 ปี ผมก็ได้พบกับ พล.อ.เปรม”

“เมื่อได้เป็นผบ.ทสส. แล้วจึงได้เข้าพบพล.อ.เปรม และได้นั่งเคียงข้างกัน ได้จับมือกัน ถ้ามีเรื่องอะไรที่สำคัญก็จะจับมือคุยกันเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นทุกครั้งที่ได้พูดคุยกัน ผมจึงเปรียบพล.อ.เปรมเหมือนบิดา คำสั่งสอนต่างๆของพล.อ.เปรมก็มีมากมาย ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือ 1. ทางด้านการเมือง ก็จะพูดถึงประชาธิปไตย ก็จะต้องเป็นประชาธิปไตยของประเทศของตนเอง หรือประเทศใครประเทศคนนั้น ให้เหมาะสมกับประเทศตนเอง และประเด็นที่ 2 ที่พล.อ.เปรมพูดอยู่เสมอว่า เราเกิดในแผ่นดินนี้ เราต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ถ้าใครไม่ตอบแทนคุณแผ่นดิน คนนั้นถือว่า เป็นคนทรยศต่อประเทศชาติ”

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: