การบินไทย เผยปี 63 ขาดทุนสุทธิ 1.4 แสนล้าน ขายหุ้น NOK-BAFS-เครื่องยนต์โบอิ้ง-ศูนย์ฝึกอบรม ใช้เพิ่มสภาพคล่อง
วันที่ 25 ก.พ. 2564 นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบอุตสาหกรรมการบินโลกอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์โดยเฉพาะในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ส่งผลให้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 73.7% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 78.5% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.87 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 76.1% สำหรับด้านการขนส่งสินค้า อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 58.6% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 53.8%
ในปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 96,430 ล้านบาท ส่งผลให้ผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 48,119 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 141,180 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและส่วนใหญ่เป็นตัวเลขทางบัญชีที่ไม่มีผลกระทบกับกระแสเงินสด จำนวน 91,978 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย
- – ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน จำนวน 82,703 ล้านบาท
- – ผลขาดทุนสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิ จำนวน 5,227 ล้านบาท
- – สำรองเงินชดเชยพนักงานในโครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (“MSP A”) จำนวน 3,098 ล้านบาท
- – ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 895 ล้านบาท
- – ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 261 ล้านบาท
- – กำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 206 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายบุคลากร โดยขอความร่วมมือผู้บริหารและพนักงานสมัครใจร่วมโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน (Together We Can) นอกจากนี้ มีโครงการ “ร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร” 2 โครงการ ได้แก่ โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (“MSP A”) และโครงการลาระยะยาว (“LW20”) เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทสามารถดำรงเงินสดในมือให้เพียงพอในการดำเนินกิจการระหว่างที่ไม่มีกระแสเงินสดรับจากการดำเนินธุรกิจการบินปกติและจากแหล่งเงินทุนอื่น ประกอบกับการชะลอการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้าง ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการ และความปลอดภัย และหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้บริษัทฯ ลดค่าใช้จ่ายคงที่จากปีก่อนได้ถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการหารายได้จากการให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยกลับบ้าน และรายได้จากกิจการอื่นๆ อาทิ ฝ่ายครัวการบิน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่บริษัทฯ เสนอ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงประกาศคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ขณะนี้คณะผู้ทำแผนอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ผู้ทำแผนยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในวันที่ 2 มีนาคม 2564 และเมื่อได้ยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป
ขณะเดียวกันการบินไทย ได้ประกาศขายทรัพย์สิน โดยระบุว่าเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ทุกสายการบิน รวมถึงการบินไทยไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ อีกทั้งธุรกิจการบินทั่วโลกเผชิญอยู่กับวิกฤตการหดตัวอย่างรุนแรง จากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่เพียงพอที่บริษัทฯ จะกลับมาเริ่มทำการบินได้ แม้ว่าบริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการหารายได้จากหลายๆ ทาง เช่น การจัดให้มีเที่ยวบินรับคนไทยกลับบ้าน เที่ยวบินขนส่งสินค้า และการหารายได้เสริมจากหน่วยธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน (Non-Air) อาทิ รายได้จากธุรกิจภัตตาคารของฝ่ายครัวการบิน การให้บริการสายการบินลูกค้าของฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้นและฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น ฝ่ายช่าง รวมทั้งรายได้จากการขายสินค้าใน Thai Shop และทัวร์เอื้องหลวงของสายการพาณิชย์ เป็นต้น
ด้วยเหตุที่กล่าวมา บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำร้องขออนุญาตขายทรัพย์สินบางรายการที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินหลักที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจการบินของลูกหนี้ หรือเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ หรือหากเก็บไว้มีแต่จะเสื่อมค่าเสื่อมราคาลง ตลอดจนก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้นจำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1. หุ้นสายการบินนกแอร์ 2. หุ้นบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3. เครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ที่ไม่ได้ใช้งาน (จำนวน 5 เครื่องยนต์) และ 4. อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้ไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สิน ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องประกาศขายอาคารศูนย์ฝึกอบรม หลักสี่ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากในการทำการบินในแต่ละเที่ยวบินนั้น บริษัทฯ จำเป็นต้องมีเงินจำนวนหนึ่ง พร้อมไว้เพื่อชำระให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำการบินในเที่ยวบินนั้น ๆ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 คลี่คลายลง และข้อจำกัดด้านการเปิดน่านฟ้าของประเทศไทยและต่างประเทศเอื้ออำนวยจนมีการอนุญาตให้ทำการบิน ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ไม่สามารถกลับมาทำการบินได้ นอกจากบริษัทฯ จะเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจการบิน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่บริษัทฯ มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ยังอาจเสียสิทธิการบินและตารางการบิน (Flight Slot) ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่ประเมินมูลค่าไม่ได้อันเป็นสาระสำคัญของการประกอบกิจการของบริษัทฯ หากปล่อยให้เกิดความเสียหายดังกล่าวนี้ จะทำให้บริษัทฯ สูญเสียศักยภาพในการแข่งขันไปอย่างถาวร และมีผลกระทบต่อโอกาสในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ อย่างแน่นอน ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหากปล่อยให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยากที่จะเยียวยาได้ ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจการบิน เพื่อต่อยอดและสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ หรือนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจภายใต้ขอบเขตที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายต่อไป
อนึ่ง สำหรับอาคารสำนักงานศูนย์ฝึกอบรมบริเวณหลักสี่ ก็เป็นทรัพย์สินรายการหนึ่งที่ได้ขายตามคำสั่งอนุญาตของศาลล้มละลายในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ โดยจะดำเนินการขายด้วยวิธียื่นซองเสนอราคา ซึ่งบริษัทฯ เสนอขายที่ดินและอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ แบบไม่รวมสิ่งที่ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและอาคาร และไม่รวมสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ของบริษัทฯ ที่อยู่ในบริเวณอาคาร โดยเสนอขายในลักษณะและสภาพปัจจุบัน (“as is-where is”) กล่าวคือ ผู้เสนอราคาจะต้องไม่เรียกร้องให้บริษัทฯ ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างใดบนที่ดินและศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ทั้งนี้ อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 425 ตำบลตลาดบางเขน (ดอนเมือง) อำเภอบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร รวมเนื้อที่ทั้งหมด 19 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา หรือ 7,926 ตารางวา
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับ TOR ได้ตั้งแต่วันนี้ – 25 กุมภาพันธ์ 2564 และระหว่างวันที่ 1 – 26 มีนาคม 2564 ทางอีเมล [email protected] และสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าดูพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ได้ ระหว่างวันที่ 1 – 26 มีนาคม 2564 โดยติดต่อ คุณชวัชร์ อันดี โทร. 096-651-5174 ซึ่งบริษัทฯ จะชี้แจงรายละเอียดข้อกำหนดการเสนอราคาและเงื่อนไขการขาย ในวันที่ 29 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 135 อาคาร 1 ชั้น 13 สำนักงานใหญ่ การบินไทย ทั้งนี้ บริษัทฯ จะจัดให้มีการยื่นซองเสนอราคา ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เวลา 9.00 – 16.00 น. ณ ศูนย์บริการงานจัดซื้อ อาคาร 3 ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ การบินไทย และจะประกาศผลการคัดเลือกให้ทราบในวันที่ 16 เมษายน 2564 ต่อไป
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ