คปภ.จ่อแยกประกัน “บิ๊กไบก์” ขายต่างหาก-เลิกรวมกับรถทั่วไป แก้ปมผู้เอาประกันต้องย้ายบริษัทประกันถี่-ถูกปฏิเสธต่ออายุ เหตุเคลมสูง ฟากเจ้าตลาด “วิริยะ” ชี้โควิด-19 กดยอดทำประกันปี’63 ฮวบกว่า 50%
นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน คปภ.และภาคธุรกิจประกันภัย อยู่ระหว่างหารือแนวทางแยกความคุ้มครองและพิกัดอัตราเบี้ยรถบิ๊กไบก์ออกมาเฉพาะแยกจากรถตลาดทั่วไป เนื่องจากการใช้งานไม่เหมือนกัน และมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก
โดยขณะนี้ได้หารือและสอบถามประสบการณ์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะศูนย์บริการซ่อม เนื่องจากบิ๊กไบก์เป็นรถที่ต้องใช้อะไหล่แท้จากศูนย์บริการเท่านั้น แม้ว่าจะซ่อมอู่ทั่วไปก็ตาม นอกจากนี้ ช่างฝีมือในการซ่อมก็จะเป็นอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะซ่อมศูนย์บริการหรือซ่อมอู่ทั่วไป อัตราค่าใช้จ่ายในการซ่อมมีราคาสูงใกล้เคียงกัน
“คปภ.กำลังศึกษาว่า รถแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างในกลุ่มผู้ใช้งานอย่างไร อัตราค่าความเสี่ยงเป็นอย่างไร อัตราความเสียหายเป็นอย่างไร กลุ่มทะเบียนรถจังหวัดเดียวกันใช้งานเป็นอย่างไร ซึ่งหากแยกแยะได้จะทำให้การกำหนดเบี้ยประกันจากการกำหนดความเสี่ยงชัดเจนขึ้น รวมไปถึงอาจใช้ระยะทางในการใช้มาปรับกำหนดความเสี่ยงด้วย”
โดยที่ผ่านมา เริ่มเห็นกลุ่มรถบิ๊กไบก์ย้ายบริษัทประกันไปเรื่อย ๆ สะท้อนว่า เป็นกลุ่มรถที่มีปัญหา ทาง คปภ.จึงต้องหาทางแก้ไข เพราะในอนาคตคาดว่าจะเป็นกลุ่มรถที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ปัจจุบันการเคลมค่อนข้างสูงส่งผลให้บริษัทประกันภัยไม่อยากรับประกัน โดยอาจจะรับประกันปีหนึ่งแล้วไม่ต่ออายุอีก
ทั้งนี้ ปัจจุบันรถจักรยานยนต์ในตลาดส่วนใหญ่ 80% มีขนาดเครื่องยนต์ 125 ซีซี อัตราเบี้ยประกันจะคิดจากลักษณะการใช้งาน เช่น ใช้ส่วนบุคคล, รับจ้าง, สาธารณะ เป็นต้น ทุนประกันภัยเฉลี่ยที่ 3-4 หมื่นบาท ขณะที่รถบิ๊กไบก์จะมีขนาด 250 ซีซีขึ้นไป จนถึง 1,000 ซีซี ทุนประกันภัยหลักแสนบาทขึ้นไป จนถึงหลักล้านบาท อัตราเบี้ยประกันหลักหลายหมื่นบาทต่อปี
“วันนี้ปัญหาคืออัตราเบี้ยประกันรถกลุ่มนี้ถูกแชร์กับรถตลาด ซึ่งการคำนวณถ้าจัดอยู่ในประเภทรถเดียวกัน จะนำอัตราความเสียหาย (loss ratio) มารวมกัน และวิเคราะห์ร่วมกัน
แต่อาจจะมีขนาดซีซี แบ่งแยกประเภทว่า กลุ่มซีซีสูง ต้นทุนสูง จะจ่ายเบี้ยสูงขึ้น เช่น รถบิ๊กไบก์ 1 คัน มูลค่าการซ่อมเท่ากับรถธรรมดา 10 คัน ทำให้เบี้ยประกันที่ออกมายังไม่สะท้อนความเสี่ยงภัยแท้จริง โดยรถบิ๊กไบก์ควรจะถูกโค้ดเบี้ยที่แพงขึ้น ในขณะที่รถตลาดควรจะโค้ดเบี้ยที่ต่ำลง เพราะฉะนั้นถ้าแยกความคุ้มครองและอัตราเบี้ยออกมา จะทำให้เบี้ยสะท้อนความเสี่ยงได้มากขึ้น และยุติธรรมกับผู้เอาประกันมากขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาถึงการให้ส่วนลดกรณีลูกค้าประวัติดี (no claim bonus : NCB) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้เอาประกันมีความระมัดระวังเวลาขับขี่ ปัจจุบันถูกกำหนดไว้ที่ 10% ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับรถประเภทอื่น ๆ ซึ่งอาจจะไม่จูงใจเท่าที่ควร จึงต้องมาพิจารณาร่วมกันใหม่ ทั้งนี้ แนวคิดเบื้องต้นอาจจะกำหนดเกณฑ์ให้มีเพดานส่วนลดไม่เกิน 50% จากนั้นให้บริษัทประกันกลับไปพิจารณาพฤติกรรมลูกค้าตัวเอง ว่าต้นทุนระดับไหน แรงจูงใจระดับไหน ถึงจะจูงใจให้ลูกค้าปฏิบัติตัวดี
“ปัจจุบันได้สรุปเงื่อนไขความคุ้มครองและข้อบังคับเกี่ยวกับการขายแล้ว โดยในปลายเดือน มี.ค.นี้ จะเปิดรับฟังความเห็นภาคธุรกิจ หลังจากนั้นจะนำกลับมาปรับปรุง และเสนอเลขาธิการ คปภ. เพื่อบังคับใช้ต่อไป”
นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าวว่า ปัจจุบันพอร์ตรับประกันรถบิ๊กไบก์ของบริษัท น่าจะเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000-12,000 คันต่อปี รับงานหลักมาจาก บมจ.อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส อีกที โดยปี 2563 ยอดขายประกันรถบิ๊กไบก์ลดเหลือแค่ 5,000 คัน ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 กดดันทำให้ตลาดเล็กลง โดยเบี้ยเฉลี่ยต่อกรมธรรม์อยู่ที่ 1.7 หมื่นบาทต่อปี ปัจจุบันลอสเรโชอยู่ที่ 55% ถือว่ายังไม่สูงมาก เพราะลูกค้าค่อนข้างระมัดระวังในการขับขี่
ข่าวจาก : ประชาชาตธุรกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ