ไม่กล้าใช้เงิน! สงกรานต์เงินสะพัดต่ำสุดรอบ 9 ปี ลดลง 16.9%





หอการค้าเผยสงกรานต์เงินสะพัดต่ำสุดรอบ 9 ปี ลดลง 16.9% เหลือ 1.1 แสนล้านบาท คนยังกลัวโควิดไม่กล้าใช้เงิน

ไม่กล้าใช้เงินสงกรานต์ – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,256 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-29 มี.ค.2564 ถึงพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564

พบว่า มีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ลดลง 16.9% หรือ คิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินอยู่ที่ 112,867.43 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสงกรานต์ปี 2562 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี โดยไม่นับสงกรานต์ปี 2563

เนื่องจากประเทศไทยงดการจัดกิจกรรมสงกรานต์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สอดคล้องกับกิจกรรมต่างๆ ที่กลุ่มตัวอย่างจะทำในช่วงสงกรานต์ก็ลดลง เช่น ทำบุญ 52.3% ลดลงจากปี 2562 ที่ตอบว่าทำบุญ 60.3% ปี 2561 อยู่ที่ 82.1% ขณะที่กิจกรรมทำการรับประทานที่บ้านเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 อยู่ที่ 45.0% ปี 2562 อยู่ที่ 40.9% และปี 2564 อยู่ที่ 42.9% ส่วนการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่/ไปเยี่ยมญาติในปี 2561 อยู่ที่ 81.9% ปี 2562 อยู่ที่ 76.2% และปีนี้ลดลงอยู่ที่ 42.1%

โดยมีสาเหตุมาจากการที่ประชาชนมีความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 โดย 60.8% ตอบว่ามีความกังวลมากที่สุด มีความกังวลเรื่องอุบัติเหตุ /ความปลอดภัยในการเดินทาง โดย 54.3% ตอบว่ามีความกังวลมากที่สุด กังวลเรื่องการจราจรมากที่สุด 48.3% เป็นต้น

สำหรับภาคที่กลุ่มตัวอย่างวางแผนจะเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุด คือ ภาคใต้ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมก็คือ ทะเล ภูเขา สถานที่ท่องเที่ยวที่จัดทำขึ้น เช่น สวนน้ำ ล่องแก่ง ล่องแพ สวนสนุก เป็นต้น น้ำตก ส่วนที่มาขอเงินที่ใช้ในช่วงเทศกาลคือเงินเดือนและรายได้ปกติ ส่วนพรที่ต้องการ คือ ขอให้เศรษฐกิจดี ประเทศร่ำรวย ของให้โควิด-19 หมดไป ขอให้คนในประเทศสามัคคีกัน ประเทศสงบสุข เป็นต้น

“สถานการณ์สงกรานต์ปีนี้ไม่คึกคักมากแต่ก็ไม่ถือว่าซบเซา เพราะคนยังเดินทางไปท่องเที่ยวแต่การไปท่องเที่ยวนั้นจะเน้นการเดินทางที่ประหยัดและการที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้จำหน่ายสุราในร้านอาหารทำให้คนเน้นสังสรรค์ที่บ้านมากขึ้น และปีนี้คนได้หยุดช่วงวันสงกรานต์มากขึ้นเพราะได้วันหยุดยาวขึ้นจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้บรรยากาศไม่ซบเซามากนักบวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเช่น เราชนะ เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น

ทำให้ประชาชนกล้าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตาม ที่เคยคาดว่าในช่วงสงกรานต์จะมีเงินสะพัดถึง 140,000 ล้านบาท แต่ปีหนี้ไม่ได้ตามเป้าหมายเพราะเม็ดเงินหายไปถึง 3-3,5000 ล้านบาท เพราะคนยังห่วงเรื่องโควิด-19 เศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายจึงไม่เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน”

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังสำรวจทัศนะต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างตอบว่ามีความกังวลอย่างมากในประเด็นต่างๆ และส่วนใหญ่จะตอบว่ามีความกังวลอย่างมาก เช่น กังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม 58.8% สุขภาพ 43.5%

การใช้ชีวิตโดยรวม 36.5% มาตรการห้ามออกนอกพื้นที่ อยู่ในพื้นที่อาศัย 36.1% ความวิตกกังวล ความเครียด 33.5% ความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางออกนอกบ้าน 30.7% และการถูกเลิกจ้าง 25.4%

ส่วนความเชื่อมั่นในเรื่องของการป้องกันการแพร่ระบาดจากการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ตอบว่าเชื่อมั่น แต่ตอบว่าเชื่อมั่นมากที่สุดเพียง 3.6% ไม่มั่นใจเลย 15.5% เชื่อมั่นน้อย 10.2% เชื่อมันน้อยมาก 6.4% เชื่อมั่นปานกลาง 42.8% และเชื่อมั่นมาก 21.5%

ทัศนะคติต่อการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ไม่เห็นด้วยถึง 68.6% เพราะเห็นว่าสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศยังคงมีต่อเนื่อง ประชาชนยังไม่ได้รับวัคซีนในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดการระบาดกลุ่มใหม่ ส่วนที่เห็นด้วย 31.4% มองว่าเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศ ช่วยภาคท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว และสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจ

การใช้จ่ายในปัจจุบัน ในด้านการท่องเที่ยว 32.7% ตอบว่าใช้น้อยกว่าปกติ และ 31.0% ตอบว่าใช้น้อยกว่าปกติมาก การซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ 44.0% ตอบว่าใช้น้อยกว่าปกติ และ 38.3% ตอบว่าใช้น้อยกว่าปกติมาก

ส่วนการซื้อรถยนต์ใหม่ 45.6% ใช้น้อยกว่าปกติ และ 39.7% ใช้น้อยกว่าปกติมาก ซื้อสินค้าคงทน โทรทัศน์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องซักผ้า 42.3% ใช้น้อยกว่าปกติ และ 24.5% ใช้น้อยกว่าปกติมาก มีเพียงการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่กลุ่มตัวอย่างตอบว่าใช้จ่ายเป็นปกติ 58.4% ขณะที่ทัศนะต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ 38.1% ระบุว่าไม่แน่ใจ ไม่ทราบ และ 30.2% คาดว่าจะต่ำกว่า 2.50%

นอกจากนี้ก ลุ่มตัวอย่างยังต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในปัจจุบันมากที่สุด 24.7% คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ 9.9% ต้องการให้ลดค่าครองชีพ 9.3% ต้องการให้ช่วยเหลือด้านสภาพคล่องทางการเงิน 6.8% ต้องการให้ช่วยเหลือด้านการเกษตรทั้งการผลิต การจำหน่าย และราคา และ 6.1% ต้องการให้ช่วยด้านการศึกษา โดยการพัฒนาให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน

ข่าวจาก : Khaosod Online

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: