ดราม่าภาคต่อศุลกากรหรือซ่องโจร ตั้งคำถามฝากถึงผู้เกี่ยวข้อง หลังแม่ค้ารับตัดสต๊อกสินค้าโดนยึด ของหนีภาษี ได้กำไรวันละ 3 ล้านบาท จี้ถามคนที่ซื้อไปขายต่อได้สิทธิพิเศษอะไร มีใครตรวจสอบหรือเปล่า
วันที่ 4 เมษายน 2564 แฟนเพจ Branding by Boy ได้มีการโพสต์ “ศุลกากรหรือซ่องโจร” ประเด็นร้อนที่ดูเหมือนจะเงียบงัน (แต่ฉันไม่อยากให้เงียบไป) เรื่องราวร้อน ๆ เกี่ยวกับศุลกากร จนมีคนติด hashtag #ศุลกากรหรือซ่องโจร เมื่อหลายวันก่อน แต่ดูเหมือนเรื่องจะเงียบ ๆ ผมเลยแวะเอาเรื่องนี้มาคุยกันบนเพจครับ
1) เนื่องด้วยก่อนหน้านี้มีประเด็นเรื่องดราม่าภาษีพัสดุที่ขูดรีด ซึ่งกรมศุลกากรก็ได้แจงดราม่าที่มีว่าเป็นไปตามหลักสากล จำเป็นต้องคิดภาษี แม้ไม่ใช่กรณีของการส่งพัสดุเพื่อธุรกิจ จะเป็นของขวัญหรือของใช้ส่วนตัวอะไรก็แล้วแต่ พยายามทำให้ถูกต้องตามหลักสากล แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้บนประสบการณ์จริง และแสดงความเห็นต่าง ๆ ว่า…
– “หลักสากลเค้าไม่ตั้งมูลค่าของที่จะคิดภาษีต่ำ ๆ ผ่านไปเป็นสิบปีไม่มีการอัปเดตหรอกนะคะ แล้วหลักสากลเค้าก็ไม่ให้เจ้าหน้าที่ น้องพี่ขออันนี้อันนึง เดี๋ยวปล่อยของให้เลย กับคนที่สั่งของด้วยค่ะ”
– “การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ในการพิจารณาแต่ละเคส ก็ไม่ใช่หลักสากลแล้วนะ”
– “เอาอะไรมาสากลอะ หลักเกณฑ์การประเมินภาษีก็ระบุไว้ชัดเจน หน้ากล่องก็ระบุราคาทุกอย่างไว้ครบ แต่ประเมินออกมาเกินจริงแล้วอ้างแต่ดุลยพินิจ ๆ ดุลยพินิจนี่มาตรฐานมากมั้ง ยังกล้าบอกว่าทำตามหลักสากล ทุเรศ”
– “หน้ากล่องก็เขียนราคาชัดเจนอยู่แล้วกี่ $ ยังประเมินมาสูงกว่าราคาที่ซื้อจริง สากลมากค่ะ”
2) หลังจากนั้นก็มีผู้ที่ต้องการคำตอบในประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับกรมศุลกากร เรื่องของการกล่าวหาว่า #ศุลกากรขโมยของไปขาย จริงเท็จให้ดูจากภาพประกอบที่มีผู้คนไปแคปมาจากกลุ่มที่ขายของจากกรมศุลกากรยึดมาครับ
3) ถ้าถามเราว่าจากภาพที่เห็นเชื่อได้ไหมว่าศุลกากรทำจริง ก็นับว่ามีความเป็นไปได้ที่คนจะตั้งข้อสงสัย เพราะมีทั้งภาพ และหลักฐานของ stock สินค้าที่ไปเอามา และอ้างอิงตัวเลขรายได้ทางธุรกิจที่มีผู้ได้รับผลประโยชน์ชัดเจน ในกระบวนการ
4) มีผู้คนใน twitter แจ้งเป็นจำนวนมากว่าของหาย และยืนยันว่าระหว่างการนำส่งของมา ของที่พวกเขาควรได้รับถูกขโมยไป และเรื่องราวที่มีต่อมาคือ การเอาของเหล่านี้ไปซื้อขายในกลุ่มทาง social network
โดย process ของการยึดของที่เกิดขึ้น ที่ว่าด้วยกฎหมาย มีลักษณะดังนี้ครับ
– กรมศุลกากรดำเนินการตามมาตรา 23 แล้วถ้ายังไม่ได้รับค่าอากร อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดอายัดของและไปทอดขายตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องเสียอากรได้ทั่วราชอาณาจักร
– เงินที่ได้ หักเป็นค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายยึดของและขายทอดตลาด ค่าอากรที่ไม่ได้เสียหรือเสียไม่ครบ
– ถ้าเงินเหลือให้คืนแก่เจ้าของ ตามมาตรา 24
แต่ในความเป็นจริงทำงานตามนี้กันหรือไม่ อย่างไร ?!? คงต้องให้ทางกรมศุลกากรชี้แจงครับ
5) เพื่อให้เห็นภาพของการเก็บเงินภาษีของกรมศุลกากร ที่ทุกคนควรรู้ตามกฎหมาย สินค้าที่นำเข้า จะมี 3 ประเภท
1. ต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่เสียภาษี
2. เกินกว่า 1,500 – 40,000 บาท เสียภาษี / vat ตามประเภทสินค้า
3. สินค้าต้องกำกัด ราคาเกิน 40,000 บาท พวกยา พืชภัณฑ์ที่ต้องแสดงใบนำเข้าต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่งคือสินค้าต้องห้าม พวกวัตถุลามก ผิดกฎหมาย ศุลกากรยึดได้ทันที
สินค้าประเภท 2) ศุลกากรจะตีราคาที่ลูกค้าต้องเสียภาษีติดกล่อง แล้วส่งไปที่ไปรษณีย์สาขาใกล้ที่อยู่ผู้รับ ผู้รับต้องไปจ่ายภาษีที่ไปรษณีย์ ถ้าคิดว่าภาษีที่ต้องจ่ายสูงเกินไป ต้องยืนยันไม่รับสินค้า ห้ามเปิดกล่องเด็ดขาด แล้วทำใบแจ้งเรื่องที่ไปรษณีย์ declare ยอดได้
ถ้าประเภท 3) ศุลกากรจะกักสินค้าไว้ที่คลังของศุลกากรที่หลักสี่ / ต่างจังหวัดตามที่อยู่ผู้รับ โดยจะกักไว้ 30 วัน ผู้รับต้องมารับที่คลังศุลกากรเอง โดยจะยังไม่ทราบราคาภาษีล่วงหน้า ต้องมาเปิดต่อหน้าที่คลัง (ต้องเสียค่าเก็บสินค้าด้วย) และถ้าเลย 30 วันแล้วไม่มารับศุลกากรจะเปิดสินค้าอีกที แล้วจะเก็บอีก 30 วัน จากนั้นถ้ายังไม่มีใครมารับ สินค้าที่ไม่มีมูลค่า จะส่งให้ไปรษณีย์ตีคืนผู้ฝากจากต่างประเทศ บางส่วนนำไปทำลายได้ สิ่งของที่มีมูลค่า สามารถขายทอดตลาดได้
ดังนั้น ช่องว่างทางการตลาดก็คือประเภท 3 คำถามคือศุลกากรมีหลักการขายทอดตลาดเป็นยังไง ? ใครขาย ขายที่ไหน ใครซื้อได้บ้าง ราคาที่ขายคิดยังไง มีหลักฐานการซื้อขายหรือไม่ อย่างไร ?
6) ปัญหาที่เกิดขึ้นจากของที่ยึดไป คือ การทำเป็นวงจรธุรกิจจริงจังแล้ว (และดูเหมือนมีจำนวนเยอะขึ้นด้วย) และการตั้งคำถามของสังคมที่ตามมา…
– คนที่ซื้อไปขายต่อ/ขายทอดตลาดได้สิทธิพิเศษอะไรในการซื้อของ ?
– ใครอนุมัติให้ออกของ มีหลักฐานการซื้อขายยังไง ?
– ล่าสุดทำเป็นธุรกิจแล้ว มีใครตรวจสอบรึยัง ?
– เมื่อคนในสามารถไปรับซื้อมาปล่อยขายกันเองได้เงินเข้าตัวเอง แล้วประชาชนจะหวังพึ่งพากรมศุลกากรในการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างไร ?
ทางเพจขอส่งต่อเรื่องราวนี้ เพื่อตั้งคำถามต่อไปทางสังคมว่า เราจะปล่อยไป หรือเราจะติดตามมันต่อไปกันดีครับ
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ