สสส.เผยผลสำรวจโควิด ทำคนไทยตกงานกว่า 6 ล้านคน ใช้ทักษะที่มีทำอาชีพอื่นไม่ได้ คาดเด็กจบใหม่เตะฝุ่นกว่า 1.3 ล้านคน ดันโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตสร้างเสริมสุขภาวะ 100 โครงการ
วันที่ 15 เม.ย. นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ละระลอก สร้างผลกระทบโดยตรงกับวัยแรงงานอย่างรุนแรง เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน จากการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากวิกฤตโควิด-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) ปี 2563
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเรียนจบ มีแนวโน้มที่จะว่างงาน เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการจ้างงาน จึงทำให้ลดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพหรือทักษะในการประกอบอาชีพจากการไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานร้อยละ 14 หรือกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่เป็นคนว่างงานร้อยละ 17.9 หรือกว่า 6 ล้านคน
ที่สำคัญยังพบว่า แรงงานทั้งในและนอกระบบส่วนมากยังไม่มีแผนการออม ทำให้ไม่มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ด้วยสถานะของแรงงานในระบบทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลายเป็นบุคคลที่มีทักษะเชิงเดี่ยวไม่สามารถปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงานและคนที่มีรายได้น้อยลงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดความรู้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง
นางเข็มเพชร กล่าวต่อว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงริเริ่มโครงการ “ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ” โดยมีเป้าหมายสนับสนุนทุนให้ประชาชนที่สนใจ 100 โครงการ โครงการละ 50,000-100,000 บาท ภายใต้ประเด็นการทำงาน 3 ด้าน คือ
1.ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และทักษะด้านการเงิน เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ในสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนค่าใช้จ่ายและการออม การลงทุน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมใช้พลังกลุ่มแก้ปัญหา เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง
2.ส่งเสริมให้คนในชุมชนพัฒนาแหล่งอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และ
3.ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ-รายได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ เกิดกิจกรรมสุขอนามัยในย่านชุมชน เช่นตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหาร โดยมีพื้นที่เป้าหมายเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด เมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และพื้นที่ควบคุมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อีก 14 จังหวัด โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนมกราคม 2565
“สสส. หวังเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการอยู่รอด มุ่งสานพลังระดับพื้นที่ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมกลไกที่ทันต่อสถานการณ์ รวดเร็วและคล่องตัว โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเสนอโครงการเข้ามาขอสนับสนุนทุนผ่านหน่วยจัดการ (Node) 5 หน่วยจัดการครอบคลุมทุกภูมิภาค ขณะนี้มีประชาชนสนใจเสนอโครงการแล้วกว่า 100 โครงการ
ซึ่ง สสส. จะพิจารณากลั่นกรองโครงการที่มีคุณสมบัติและความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการ โดยหน่วยจัดการจะเป็นพี่เลี้ยงจัดกระบวนการเสริมทักษะพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้รับทุนที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามและติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “สร้างสรรค์โอกาส” www.facebook.com/Section6TH” ผอ.สำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าว
ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ