สธ.ห่วงผู้ป่วยอาการหนัก28ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ เสี่ยงเสียชีวิตสูง





กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลทางระบาดวิทยา ตัวเลขชะลอตัว มีแนวโน้มคุมสถานการณ์ได้ คาดภายใน 2 สัปดาห์จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ห่วงผู้ป่วยอาการหนัก 28 รายใส่เครื่องช่วยหายใจ เสี่ยงเสียชีวิตสูง พร้อมแจงกระจายวัคซีนล็อตสอง 1 ล้านโดส ไปยังกลุ่มเป้าหมายแล้ว

วันที่ 18 เมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อวันนี้ตัวเลขพุ่งถึง 1,767 ราย ค่อนข้างสูง จากระบบบริการ 1,477 คัดกรองเชิงรุก 288 ราย มาจากต่างประเทศ 2 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย มาจากโรคประจำตัว คนนึงเป็นโรคไตเรื่อรัง อีกคนเบาหวาน ซึ่งก็น่าห่วงผู้ป่วยอาการหนัก เราพบว่ามีผู้ป่วยอาการหนัก 128 รายในจำนวนนี้มี 28 รายที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งอาการรุนแรงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ทางกรมการแพทย์อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการติดเชื้อรอบใหม่จากสายพันธุ์อังกฤษว่าทำให้ปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน

คาดการณ์ทางระบาดวิทยาแนวโน้มเริ่มชะลอตัว

สำหรับแนวโน้มตอนนี้ยังถือว่าอยู่ในขาขึ้นค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามวันนี้ที่มีการกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 20 ขณะที่การคาดการณ์ของทางระบาดวิทยา ในระลอกใหม่เดือน เม.ย.จะได้ยินคำว่า R 0 (R nought หรือ R Zero) ซึ่งหมายถึงค่าตัวเลขหนึ่ง ที่จะบอกว่าคนติดเชื้อ 1 คนจะกระจายไปคนอื่นอีกกี่คน เช่น ถ้า R เท่ากับ 1 แปลว่าติด 1 คน แพร่ไปติดไปอีก 1 คน แสดงว่าการระบาดค่อนข้างคงที่มีแนวโน้มลดลง แต่ถ้าหาก R มากกว่า 1 จะหมายถึงติด 1 คน กระจายไป 2 คน จะมีการระบาดแบบทวีคูณ ก้าวกระโดดไปเรื่อยๆ จาก 1 คน เป็น 2 คน จาก 2 คน เป็น 4 คน เรื่อย ๆ

ดังนั้น ทางระบาดวิทยาต้องควบคุมสถานการณ์ให้ R0 น้อยกว่า 1 ให้มากที่สุด อย่างตอนระบาดรวดเร็วตั้งแต่วันที่ 4-8 เม.ย.ตอนนั้นค่า R เท่ากับ 2 กว่าๆ และจากนั้นจึงมีการปิดสถานบันเทิง การเพิ่มก็จะลดลง แต่สถานการณ์ขณะนี้ค่า R0 อยู่ที่ 1.6 ดูเหมือนว่าแนวโน้มการระบาดเริ่มชะลอตัว คุมสถานการณ์ได้ แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่ม แต่อย่างไรก็ตามต้องการความร่วมมือกับประชาชนอีกหลายประการ

“วันนี้การระบาดของเรายังอยู่ที่เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา กรุงเทพฯ ปริมณฑล ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนจังหวัดอื่นมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ส่วนใหญ่อยู่ในวงจำกัดเล็ก ๆ เพราะฉะนั้นทุกจังหวัดถ้าร่วมกันควบคุม ก็จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะค่อยๆ ลดลง นี่คือสิ่งที่นักระบาดวิทยาคาดการณ์ไว้”

ลดเชื้อกระจายในองค์กร

นพ.โอภาส ได้กล่าวสรุปว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยอาการรุนแรง และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน มีกิจกรรมมาก เริ่มจากสถานบันเทิง ไปสัมผัสกับคนในครอบครัว และมีแนวโน้มระบาดไปยังโรงเรียน หน่วยงาน องค์กร และสถานประกอบการ สิ่งที่จะทำให้หลีกเลี่ยงได้ ต้องยึดมาตรการส่วนบุคคล ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ควรเลี่ยงการเดินทางโดยไม่จำเป็น และป้องกันตัวเองตลอดเวลา สวมหน้ากาก ล้างมือ ไม่ไปพื้นที่เสี่ยง แออัด

ส่วนมาตรการองค์กร หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ภาคเอกชน ท้องถิ่น ร่วมมือกันลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยขอให้พนักงานทำงานนอกสถานที่ปฏิบัติ หรือ Work From Home โดยเฉพาะผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ รวมถึงคัดกรองพนักงาน จัดทำแผนเฝ้าระวัง และให้พนักงานทุกคนในองค์กรทุกคนถือปฏิบัติ และให้งดกิจกรรมรวมกลุ่ม งานเลี้ยงสังสรรค์ห้ามมีเด็ดขาด ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา คัดกรองคนเข้าออก ไม่รับประทานอาหารร่วมกันในเพื่อนร่วมงาน

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไปตรวจคัดกรองโควิดแล้วพบว่าติดเชื้อ จะทำอย่างไร ถ้ามีอาการรุนแรง จะส่งตัวเข้าโรงพยาบาลทันที ถ้ามีอาการ แต่ไม่รุนแรง จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนาม ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการ จะถูกส่งตัวไปยัง ฮอสพิเทล

กระจายวัคซีน 1 ล้านโดส

ขณะมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 608,521 โดสใน 77 จังหวัด จากที่มี 1 ล้านโดสแรก และเมื่อวานได้มีการตรวจรับวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดสที่นำเข้าเมื่อวันที่ 10 เม.ย. และมีการกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่

  1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าและอสม. 599,800 โดส ต้องให้ได้ครบ 100% ภายใน 2 สัปดาห์ หากภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้ยังแพทย์ หรืออสม.ท่านไหนยังไม่ได้ฉีดให้รีบแจ้ง
  2. ควบคุมโรคระบาด พื้นที่สีแดงโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล 100,000 โดส
  3. ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 147,200 โดส ซึ่งตรงนี้มีรายชื่อในโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะเรียกมาฉีด
  4. ตำรวจทหารด่านหน้า และเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องพบปะประชาชนจำนวนมาก อีก 54,320 โดส
  5. เก็บไว้สำรองภาวะฉุกเฉิน 98,680 โดส อย่างกรณีสถานบันเทิง ตลาดบางแค ฯลฯ

ทั้งนี้ วัคซีนล็อตนี้เป็นนโยบายสธ.ในการจัดซื้อวัคซีนมาใช้ในกรณีฉุกเฉินระหว่างรอวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่เราเตรียมจะซื้อ 61 ล้านโดสในเดือน มิ.ย. 2564

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: