เรียกร้องแก้ไข พรบ.การศึกษาฯ บรรจุอัตราจ้าง-พนักงานราชการทำงาน5ปีโดยไม่ต้องสอบ





ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิ ผู้บริหาร ครูฯ เรียกร้องแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายการศึกษาอื่น


1 พฤษภาคม 2564 นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ​ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ส่งข้อความถึงเพจครูวันดี เพื่อนำเสนอข่าว เกี่ยวกับ การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ และกฎหมายการศึกษาอื่น


โดยมีรายละเอียดดังนี้


ที่ ช.พ.ค.ศ. 02 / 2564  วันที่ 30 เมษายน 2564


เรื่อง ​การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ และกฎหมายการศึกษาอื่น


เรียน ​พี่น้องเพื่อนครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ที่เคารพ


ตามที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฯ และวุฒิสภาได้แต่งตั้งผมเป็นคณะทำงานพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นั้น ได้มีการประชุมไปแล้วหนึ่งครั้ง โดยมีผลการประชุมดังนี้


1. ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ที่นำเข้าสู่ที่ประชุมนั้นเป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับของรัฐบาลที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้ว


2. การพิจารณาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 การพิจารณาเป็นเรื่องเกี่ยวกับ แนวคิดและแนวทางของคณะทำงานแต่ละท่าน โดยมีกำหนดที่จะประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564


ผมขอเรียนเพิ่มเติมว่าปัจจุบันผมเป็นประธานชมรมพิทักษ์สิทธิ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งชมรมดังกล่าวเป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เกี่ยวกับเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ฉบับของรัฐบาลที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้ว พวกเราเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีหลายประเด็นที่เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็มีหลายประเด็นที่เป็นปัญหาต่อวิชาชีพครู ดังนั้นจึงมีแนวทางที่จะเสนอต่อที่ประชุมดังนี้


1. ให้คงความสำคัญไว้ว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ไว้ในกฎหมาย


2. ให้คงคำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ไว้ในกฎหมาย ไม่ยอมรับการใช้คำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา”


3. ให้คงความสำคัญว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ไว้ในกฎหมาย ไม่ยอมรับ ความสำคัญว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู”


4. ไม่เห็นด้วยกรณีที่กฎหมายดังกล่าวยกเลิก ข้าราชการตำแหน่ง “ผู้บริหารการศึกษา” “ผู้บริหารสถานศึกษา” “ศึกษานิเทศก์” “บุคลากรทางการศึกษา” โดย เห็นสมควรให้ยังคงมีตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” “ผู้บริหารการศึกษา” “ศึกษานิเทศก์” “บุคลากรทางการศึกษา”


5. ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกความสำคัญว่า “หน่วยงานทางการศึกษา” โดยให้คงมีคำว่า “หน่วยงานทางการศึกษา” ซึ่งประกอบด้วย


  • สถานศึกษา
  • สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
  • ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ
  • ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขตในกรุงเทพมหานคร
  • สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด
  • สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร
  • ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด
  • ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำกรุงเทพมหานคร
  • สถาบันอาชีวศึกษาประจำจังหวัด
  • สถาบันอาชีวศึกษาประจำกรุงเทพมหานคร
  • สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด
  • แหล่งการเรียนรู้ตามประกาศของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
  • สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
  • สำนักงานศึกษาธิการกรุงเทพมหานคร
  • หน่วยงานตามที่กฎหมายว่าด้วย ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศกระทรวง หรือหน่วยงานที่คณะกรรมการข้าราชการครูกำหนด

6. ให้บุคลากรทางการศึกษาประเภท 38 ค (2) ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับข้าราชการครู สายผู้สอน


7. ไม่เห็นด้วยกับการให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดฝ่ายข้าราชการประจำ แต่เห็นควรให้มีหน้าที่บูรณาการการศึกษาทุกประเภทของกระทรวงศึกษาธิการ


8. ไม่เห็นด้วยกับการยุบส่วนราชการที่มีอยู่เดิมแต่อาจปรับบทบาทหน้าที่ให้กระชับคล่องตัว


9. ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 19 และให้คืนอำนาจการบริหารงานบุคคลให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา


10. เห็นควรให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทำหน้าที่วางแผนบูรณาการและพัฒนาคุณภาพทางวิชาการในจังหวัด


11. เห็นควรให้มีการกระจายอำนาจสู่โรงเรียนให้มากที่สุด


12. เห็นควรให้มีการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมในทุกระดับโดยให้ข้าราชการครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา มีส่วนร่วม


13. ให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทุกประเภทต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ


14. ให้ตัดโอนอำนาจการบริหารงานบุคคลจาก ก.ค.ศ. เป็นอำนาจของส่วนราชการต้นสังกัด


15. ให้เพิ่มผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพครู ผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษา เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการศึกษาแห่งชาติ


สำหรับข้อเสนอเพิ่มเติมของ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทยคือ


1. ให้บรรดาครูอัตราจ้าง พนักงานราชการ ที่ปฏิบัติหน้าที่ครบ 5 ปี และผ่านการประเมินได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการ


2. กำหนดให้ทุกโรงเรียนต้องมีนักการภารโรง พนักงานขับรถ (ถ้าโรงเรียนมีรถราชการ) และมีเจ้าหน้าที่ธุรการ โดยมีจำนวนที่สอดคล้องกับจำนวนนักเรียน


หากท่านใดประสงค์จะเสนอข้อมูลเพิ่มเติมก็ยินดีรับฟัง


จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ


นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ


​ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย


ข่าวจาก ครูวันดี, ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: