สธ.รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกผลิตในประเทศ 1.8 ล้านโดส กระจายส่งทุกจังหวัด ยันทุกจังหวัดมีวัคซีนฉีดวันที่ 7 มิ.ย.แน่นอน “อนุทิน” ลั่นไม่ได้มีม้าตัวเดียว
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) รับมอบวัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ล็อตแรก 1.8 ล้านโดสที่ผลิตในประเทศไทย จากนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด
นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ กระทรวงสาธารณสุขรับมอบวัคซีนโควิด 19 ที่ผลิตในประเทศไทยจากแอสตร้าเซนเนก้า ตามแผนการส่งมอบและการเก็บรักษาที่ตกลงกันไว้ เพื่อให้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
ทั้งนี้ แอสตร้าฯ มีเครือข่ายการผลิตวัคซีนโควิดทั่วโลก แต่งตั้งบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นศูนย์การผลิตวัคซีนโควิด 19 แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยจากหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศ ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการของแอสตร้าเซนเนก้าในต่างประเทศ เป็นการยืนยันคุณภาพของวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยว่ามีมาตรฐานในระดับสากล
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลงและสัญญาว่าจะส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศภายในเดือนมิ.ย. ซึ่งจริงๆ ส่งมาตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. และจะทยอยส่งมอบอีกหลายๆ ล็อตที่ผลิตจากโรงงานในไทย
ทั้งนี้ วัคซีนถูกกระจายส่งไปยังทุกจังหวัดเพื่อฉีดในวงกว้าง และยังมีวัคซีนอีกหนึ่งยี่ห้อร่วมไปด้วย เพราะเราไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียวในเรื่องวัคซีน โดยม้าคือวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ม้าตัวแรก แอสตร้าเซนเนก้า ตัวที่สอง ซิโนแวค ตัวที่สาม จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ตัวที่สี่ โมเดอร์นา ตัวที่ห้า ซิโนฟาร์ม
และจะมีม้าตัวที่หกและเจ็ดต่อไป ตราบใดที่ผู้ผลิตวัคซีนมีความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่ดีทำให้ประชาชนของเรามีความปลอดภัยจากการระบาดของโควิดได้ ก็จะมาขึ้นทะเบียนกับ อย. ซึ่งใช้เวลาไม่นานในการอนุมัติขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน โดยดูเอกสาร ผลิตภัณฑ์ว่าปลอดภัย เราทำทุกอย่างตามเหตุและผล ตามความจำเป็นและเหมาะสม
“ถ้าใครพูดว่ารัฐบาลไทยเลือกม้าตัวเดียวมาฉีดประชาชน ขอให้เปลี่ยนความคิดใหม่ เราไม่เคยเลือกม้าตัวเดียว รัฐบาลไทยมีความพร้อมจะรองรับกับสถานการณ์ให้ดีที่สุดที่ทำได้ วันนี้เป็นบทพิสูจน์ เรื่องการเลื่อนฉีดวัคซีนตามที่ต่างๆ ก็ไม่เป็นความจริง กระทรวงสาธารณสุขพูดมาตลอดว่าเราฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ มี.ค.ถึงปัจจุบัน และฉีดต่อไปให้ครอบคลุมจำนวนประชากรมากที่สุด และไม่ได้จบสิ้นปีนี้
วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพประสิทธิผล 6 เดือน 9 เดือน หรือ 1 ปี ก็ต้องพิสูจน์และค้นคว้าวิจัยต่อไป ตราบใดที่โควิดเป็นโรคระบาดทั่วโลก นายกฯ ให้นโยบายชัดเจนกับกระทรวงสาธารณสุข ว่า เราต้องมีวัคซีนแจกจ่ายให้คนไทยและผู้อาศัยในประเทศไทยทุกคน โดยเป็นภาระของรัฐบาล ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจ และตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ทุ่มเทให้ประชาชนปลอดภัย ปลอดเชื้อ” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2.4 แสนโดสที่กระจายไปก่อนหน้านี้ เป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่นำมาจากต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าหากมีการสลับวัน หรืออาจมีการล่าช้าด้วยเหตุผลที่เกินการควบคุม เรายังมีวัคซีนที่จะกระจายเข้าไป เพื่อให้มีเวลาแก้ไขสถานการณ์ เป็นการป้องกัน ลดความเสี่ยง เพราะเราต้องการเมกชัวร์ ว่าการฉีดวัคซีนของไทยจะดำเนินไปได้ ซึ่งล็อตนี้อยู่ในส่วนที่ประเทศไทยจัดซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส
ส่วนกรณีราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น ศบค.จัดให้อยู่ในกลุ่มโควตาของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ต้องไปถาม อว.ว่าจะบริหารจัดการจัดสรรอย่างไร เพราะทั้งมหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ อยู่ในส่วนของ อว.ทั้งหมด
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต กล่าวว่า บริษัทจะทยอยส่งวัคซีนเป็นงวดๆ จากนั้นกรมควบคุมโรคทยอยจัดส่งวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสัปดาห์นี้จะมีวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวคส่งถึงโรงพยาบาลหรือสถานที่ฉีด หลายจังหวัดได้รับวัคซีนแล้ว ยืนยันว่าทุกจังหวัดมีวัคซีนโควิด 19 ฉีดให้กับประชาชนในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันคิกออฟการฉีดวัคซีนจำนวนมากพร้อมกันทุกพื้นที่ตามนโยบายนายกฯ แน่นอน โดยจังหวัดที่อยู่ไกลอาจใช้เวลาในการขนส่งบ้าง แต่จะได้รับวัคซีนไปเตรียมการฉีดล่วงหน้าทุกจังหวัด
โดยรวมแล้ เดือนมิ.ย.มีประมาณ 6 ล้านโดสขึ้นไป สำหรับการจัดสรรวัคซีนขึ้นกับจำนวนวัคซีนที่เข้ามาแต่ละงวดแต่ละเดือน จัดสรรบนหลักการทั่วถึงและเป็นธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน คือ จัดสรรให้ทุกจังหวัดและปรับเกลี่ยโดยพิจารณาทั้งอัตราส่วนวัคซีนต่อประชากร ซึ่งรวมประชากรแฝง แล้วหาร 4 เดือนซึ่งเป็นระยะเวลาที่เราจะฉีดเข็มที่ 1 ให้ครอบคลุมทุกคน คูณด้วยแฟคเตอร์คือความรุนแรงของสถานการณ์ระบาด พื้นที่จำเพาะตามนโยบายรัฐ เช่น พื้นที่การท่องเที่ยว ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้มีการกระจายวัคซีนไปตามแผนที่ ศบค.กำหนด
“กระทรวงสาธารณสุขจะต้องส่งวัคซีนเพื่อให้เป็นไปตามแผน โดยเรารับวัคซีนมาจากแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ปัจจุบันวางแผนจัดส่งไปแล้ว ไม่มีที่ไหนต้องเลื่อนการฉีด เพียงแต่ข่าวอาจออกมาเร็ว เนื่องจากเรารีบส่งวัคซีนล็อตแรก 2.4 แสนโดส ทำให้ได้จังหวัดละ 3,600 กว่าโดส แต่เมื่อได้อีก 1.8 ล้านโดสก็จะส่งตามไป เราวางแผนเป็นรายสัปดาห์เพื่อสนับสนุนวัคซีนอย่างพอเพียง และติดตามผลการฉีดด้วย ซึ่งอาจฉีดได้มากหรือน้อยกว่าเป้าก็จะมีการปรับแผนการส่งวัคซีนให้จังหวัดต่อไป โดยยืนยันว่าไม่ต้องมีการเลื่อนฉีด” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค. เรามีวัคซีนซิโนแวคเป็นตัวหลัก 5 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า ประมาณ 1 แสนโดส กระจายไปยังจังหวัดตามสถานการณ์ ซึ่งขณะนั้นเน้นฉีดบุคลากรทางการแพทย์ ขณะนี้ฉีดจนครบแล้ว อาจเหลือตกหล่นเล็กน้อย หรือบางคนไม่ยอมฉีดจริงๆ โดยฉีดไปแล้วประมาณ 4 ล้านโดส จังหวัดที่ได้รับการฉีดมากที่สุดคือ กทม. และจังหวัดที่ประชากรฉีดมากที่สุดคือ ภูเก็ต ฉีดไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนเดือนมิ.ย. เป็นแผนหลักของเรา ซึ่งมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนหลัก และมีซิโนแวคมาเป็นวัคซีนเสริมเข้าไปให้มีการฉีดอย่างต่อเนื่อง
สำหรับวัคซีนซิโนแวค 1.5 ล้านโดสจะเข้ามาทีเดียว แต่ส่งตรวจสอบแต่ละรุ่นจะไม่พร้อมกัน และค่อยกระจายกันไป อย่าง 7.5 แสนโดส กระจายไปต้นสัปดาห์นี้แล้ว ส่วนหนึ่งถึงพื้นที่แล้ว และอีก 7.5 แสนโดสจะดูตามสถานการณ์การฉีด และปรับให้สอดคล้องกับความต้องการพื้นที่ เพราะซิโนแวคต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ หากส่งไปเยอะๆ จังหวัดอาจไม่เข้าใจ ฉีดเยอะไปอาจทำให้เข็ม 2 ขาดแคลนได้
นายเจมส์ ทีก กล่าวว่า วัคซีนที่ผลิตและส่งมอบมีการควบคุมคุณภาพ โดยตรวจสอบมากกว่า 60 รายการในแต่ละล็อตการผลิต โดยส่งตรวจคุณภาพทั้งห้องปฏิบัติการที่อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วันนี้ถือเป็นการส่งมอบวัคซีนล็อตแรกจำนวน 1.8 ล้านโดส จากนั้นจะมีการทยอยส่งมอบเรื่อยๆ ตามที่ได้สัญญาไว้กับรัฐบาล
โดยจะมีการหารือร่วมกับกรมควบคุมโรค ในการทยอยจัดส่งเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้จำนวนส่งมอบเป็นไปตามแผน ส่วนกรณีข่าวประเทศฟิลิปปินส์ระบุว่าแอสตร้าเซนเนก้า แจ้งอาจส่งวัคซีนล่าช้า ว่าเรื่องนี้ขอยืนยันจะมีการส่งให้ทันแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนนี้ทันเดือนก.ค.
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ