‘อนุทิน’ ตามหาคนหาย วัคซีน ‘จอห์นสันฯ’ ติดต่อไม่ได้ ตอบคำถาม ซื้อไฟเซอร์ต่อจากปท.อื่น ให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณา
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาคมโรคติดเชื้อขอให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีน ชนิด mRNA เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อรับมือสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) ว่า หลังจากที่เราลงนามเทอมชีท(Term sheet) ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ขณะนี้อยู่ในการเจรจาร่วมกับวัคซีนไฟเซอร์ขั้นสุดท้าย เป็นการทำสัญญาซื้อขาย(DSA) ซึ่งยังมีบางข้อความที่สำนักอัยการสูงสุดกำลังเร่งตรวจสอบอยู่ และเร่งให้กรมควบคุมโรคเจรจา เพื่อไม่ให้กระทบการจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ตามเทอมชีท ว่าเขาจะส่งให้เราในไตรมาส4 ดังนั้น วัคซีนไฟเซอร์ เป็นชนิด mRNA ที่ใกล้มือเรามากที่สุด ล็อตนี้ 20 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กำลังศึกษาวัคซีนชนิด mRNA เช่นกัน เราก็ต้องส่งกำลังใจไปให้มีความสำเร็จโดยเร็ว
นายอนุทิน กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องวัคซีนในประเทศไทย จะต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการวิชาการวัคซีน ที่มี ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ รวมถึง นพ.ยง ภู่วรวรรณ เป็นคณะทำงานประชุมร่วมกันทุกวัน เพื่อวางแนวทางเรื่องการใช้วัคซีนใด วิธีใด ห่างกันอย่างไร แล้วแจ้งมติมายัง สธ. เพื่อให้แพทย์ปฏิบัติตาม
แม้แต่อธิบดีกรมการแพทย์จะฉีดวัคซีนตามใจตัวเอง หรือแพทย์จะฉีดตามความเชื่อส่วนตัวก็ไม่ได้ ตนและสธ. มีหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทาง หากคณะกรรมการฯ บอกว่า ต้องซื้อวัคซีนชนิดใดเพิ่ม ก็จะต้องไปเร่งนำเข้าครม. หางบประมาณมาเพิ่มเติม และพยายามจัดหามาให้มากที่สุด
และเมื่อถามว่าวัคซีนชนิด mRNA ในปีนี้ ว่าจะได้รับสูงสุดที่ 20 ล้านโดสหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับปีนี้ ทางบริษัทไฟเซอร์ที่เจรจาร่วกมัน เขาระบุไว้ 20 ล้านโดส แต่เราก็ติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทุกเจ้า เพื่อเตรียมไว้สำหรับปีหน้าให้รองรับสายพันธุ์อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนใดที่ผลิตขึ้นมาครอบคลุมสายพันธุ์เบต้า(แอฟริกาใต้) และเดลต้า(อินเดีย) เพียงแต่ว่า ยังสามารถป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง เสียชีวิตได้ วัคซีนทุกชนิดยังยืนอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน
เมื่อถามต่อว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเจรจากับประเทศอื่นเพื่อซื้อวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาเพิ่มเติม นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องดูตามกฎหมายว่าระบุอย่างไร ว่าผู้นำเข้าวัคซีนได้จะต้องเป็นใคร เช่นต้องเป็นผู้ได้รับการจดทะเบียนให้นำเข้ามาเท่านั้น อย่างหากเราจะซื้อวัคซีนชนิด mRNA เราต้องติดต่อกับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทยเท่านั้น แม้กระทั่ง วัคซีนที่สหรัฐอเมริกาจะบริจาคให้เรา 1.5 ล้านโดส ในสัญญาก็ต้องมีบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย เข้ามาเอี่ยว
“ผมก็ถามว่า ไม่ได้นำสต็อกมาจากโกดังของรัฐบาลสหรัฐหรือ เขาก็ว่าไม่ใช่ ที่ไฟเซอร์ต้องเข้ามาเอี่ยว เพราะต้องเอามาจากโรงงานของเขา ทุกวันนี้วัคซีนทุกขวดในประเทศไทย ต้องวิ่งตรงมาจากโรงงาน ไม่ได้ออกจากสต็อกหรือโกดังที่ไหน ออกจากโรงงานก็ขึ้นเครื่องมาเมืองไทย ซึ่งเป็นการการันตีความปลอดภัยว่าวัคซีนนี้ไม่ได้หลุดไปอยู่ที่อื่นมาก่อน ผมเองก็ต้องถามว่าเก็บดีเท่าโรงงานผลิตหรือเปล่า ผมก็ต้องสงสัย” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนนี้ก็อยากประกาศคนหาย วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่เราก็เตรียมลงนามสัญญาเทอมชีท(Term sheet) แต่ก็ไม่สามารถติดต่อกับบริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัด ได้ อันนี้เป็นความผิดเราหรือไม่ เพราะเราเร่งแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอาจเกิดปัญหา ซึ่งเราก็มีข้อมูลจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติในเรื่องนี้เช่นกัน มีคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์เตือนมา เราก็ต้องฟัง เพราะ เราจะไม่เอาประชาชนมาเป็นหนูทดลอง
“การฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัย เราต้องฟังคณะกรรมการวิชาการวัคซีน ซึ่ง สธ. ทำมาโดยตลอด นอกจากนั้น วัคซีนไข้หวัดใหญ่เอง ก็ต้องผ่านความเห็นคณะกรรมการฯ เช่นกัน ไม่มีการเอาอารมณ์มาตัดสินใจเรื่องวัคซีน ต้องมีที่ให้หลังพิง” นายอนุทิน กล่าว
ข่าวจาก มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ