เปิดชีวิตสุดระทม คนงานป่วยโควิดในแคมป์ ผ่านไป 10 วัน ต้องนอนเต็นท์ปูนร้อนจัด-ฝนตกก็ท่วม ท้องหิว เงินไม่มี วอนขออาหาร เยียวยาที่รัฐบาลบอก ผ่านมานานทุกอย่างยังเป็นศูนย์
ผู้สื่อข่าวได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือ แจ้งว่าขณะนี้กำลังเกิดปัญหาขึ้นในแคมป์คนงานหลายแห่ง จากกรณีที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐสั่งปิดแคมป์คนงาน ล็อกดาวน์เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้หลังมาตรการดังกล่าวบังคับใช้ผ่านไปแล้วราว 10 วัน คือ ความทุกข์ทรมานของแรงงานในแคมป์ เพราะคนงานแคมป์มากกว่า 500 แคมป์รอบพื้นที่กรุงเทพฯที่ถูกสั่งปิด กำลังอยู่ในความทุกข์จากการถูกจำกัดพื้นที่ ความหิวที่เกิดจากการขาดอาหาร และสภาพที่อยู่อาศัยซึ่งไม่ได้เอื้อให้อยู่เป็นเวลานาน ทั้งกลางวัน กลางคืน และยิ่งเลวร้ายเมื่อฝนตก
เรื่องรายได้ของแรงงานยิ่งเดือดร้อนหนัก เพราะคนงานในแคมป์ส่วนใหญ่รับค่าแรงวันต่อวัน แคมป์ที่ไม่พบผู้ป่วยโควิดก็ขาดรายได้ แม้จะออกจากแคมป์ได้ แต่ก็ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย เงินเยียวยา 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 7,500 บาท สำหรับคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมจากที่สำรวจ 100% แจ้งว่ายังไม่ได้รับ ส่วนคนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่นอกระบบรายรับเป็น 0 มา 10 วันแล้ว ส่วนการลงพื้นที่ของสาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบโรค ก็เกิดขึ้นเพียงบางแคมป์ ยังไม่ครอบคลุม
ยกตัวอย่างความยากลำบากของแรงงาน กรณีแคมป์วิภาวดีซอย 20 มีแรงงานทั้งหมด 190 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ พบติดเชื้อโควิด 70 คน เจ้าหน้าที่ได้ทำการแยกตัวออกมา แต่ก็มานอนเต็นท์เขียวที่กางบนพื้นปูนช่วงกลางวันแดดออก ทำให้ร้อนจัดจนแทบไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ บางวันฝนตกลงมาน้ำท่วมผู้ป่วยต้องอยู่กับน้ำที่ท่วมเข้ามา บริษัทส่งอาหารปรุงสุกให้วันละ 1 กล่อง พร้อมอาหารแห้งจำนวนจำกัด
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง “ไชยวัฒน์ วรรณโคตร” เลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการศึกษาด้านแรงงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เล่าให้ฟังว่า
“จากรายงานของรัฐบาลแคมป์คนงาน กทม.และปริมณฑล มีมากกว่า 500 แคมป์ที่ถูกสั่งปิด สถานการณ์หลังสั่งปิดแคมป์คนงานเป็นเวลากว่าสิบวัน หลังจากวันแรกที่สั่งปิดผมได้ลงพื้นที่ไปที่แคมป์คนงานแถวบางกะปิ แคมป์ที่มีข่าวว่าข้าว 50 กล่องคน 400 คน พอลงพื้นที่ไปหน้างานก็ได้คุยกับหัวหน้าคนงานที่ดูแล พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในแคมป์ คือ รัฐบาลสั่งทหารเข้ามาปิดล้อมแคมป์โดยที่ในแคมป์มีทั้งผู้ป่วยโควิดที่ได้รับการตรวจแล้ว และยังไม่ได้ตรวจปนกันอยู่ดังนั้นการจับเขารวมกันในแคมป์ที่แออัดมันส่งผลให้ทุกคนตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหมด สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำไม่ใช่ให้ทหารมาปิดล้อมแต่ควรจะส่งทีมสาธารณสุขเข้ามาตรวจเชิงรุก ส่งยาให้ผู้ป่วย ส่งอาหารมาบริการ หรือมาจัดระเบียบโซนในแคมป์ระหว่างคนป่วยและคนไม่ป่วย”
ไชยวัฒน์ระบุ ต่อว่า “วันนี้ผ่านมาสิบวัน ทุกอย่างแทบจะเหมือนเดิม ‘คนงานถูกทิ้ง’ มีการส่งทีมงานสาธารณสุขลงไปทำ Swab Test บ้างในบางแคมป์แต่ก็ยังไม่มากนักทุกวันนี้ยังไม่มีตัวเลขเปิดเผยออกมาเลยว่าตรวจไปแล้วกี่แคมป์ กี่คน สภาพแวดล้อมภายในแคมป์ย่ำแย่ลงเนื่องจากปกติแคมป์คนงานมีสภาพแออัดอยู่แล้วเมื่อพบผู้ป่วย
ผู้ป่วยในหลายแคมป์ก็ต้องถูกแยกออกไปนอนเต็นท์เขียว พื้นปูน กลางวันแดดออกก็ร้อน กลางคืนหนาว ฝนตกน้ำก็ท่วมเข้ามาในเต็นท์ จุดนี้ยังไม่มีใครเข้าไปดูแล เงินเยียวยาประกันสังคม ที่จะจ่าย 50% ของรายได้แต่ไม่เกิน 7,500 บาท เท่าที่สอบถามตอนนี้ผ่านมาสิบวันก็ยังไม่มีใครได้รับ ยังไม่รวมถึงคนงานนอกระบบที่มีเงื่อนไขเต็มไปหมดในการรับเงินเยียวยาสูงสุดจากรัฐบาล 2,000 บาท”
“เรื่องอาหารการกินรัฐบาลพูดอย่างดิบดีว่าการล็อกครั้งนี้จะมีอาหารให้สามมื้อแต่สุดท้ายโยนให้ผู้ประกอบการ เจ้าไหนดีหน่อยก็มีอาหารส่งให้วันละ 1 มื้อ เจ้าไหนแย่ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ก็ปล่อยทิ้งเลยหรือไม่ก็มีอาหารแห้งมาให้บ้าง ตอนนี้คนงานหลายแคมป์คอยรับของบริจาคเสี่ยงโชคว่าวันไหนจะมีข้าวกินบ้าง แคมป์ไหนที่ไม่มีโควิดแม้จะออกไปซื้อของได้บ้างเนื่องจากไม่มีทหารเฝ้าแต่ตอนนี้ก็ไม่มีเงินจะซื้อแล้วเพราะคนงานก่อสร้างส่วนใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติเป็นคนงานทำงานรายวัน ทำงานเช้ารับเงินค่ำ ไม่อยู่ในระบบ แคมป์ที่มีผู้ป่วยรอเตียงนอกจากจะนอนรออย่างไม่มีกำหนดแล้วยังขาดทีมสาธารณสุขเข้าไปจัดแจงดูแล ทั้งหิว ทั้งป่วย นอนรออย่างไร้จุดหมาย สภาพจิตใจก็แย่ลงทุกวัน” ไชยวัฒน์ระบุ
“รัฐบาลสั่งปิดแคมป์ก็ควรมีแผนบริหารจัดการสถานการณ์ เช่น ด้านการตรวจ ด้านสุขภาพจิต ด้านบริการสาธารณสุขอื่น ๆ ไม่ใช่เอาทหารมาปิดล้อมแล้วก็จบ ผมคิดว่า สิ่งที่รัฐบาลทำกับคนงานเหล่านี้ไม่ใช่การทอดทิ้ง แต่มันหนักกว่านั้น มันคือการกักขัง เขาไว้กับโรค กับความหิว กับความอ้างหว้างไร้จุดหมายที่ทำให้สภาพจิตใจเขาย่ำแย่ลงไปทุกวัน สุดท้ายอยากฝากให้รัฐบาลรีบลงมาจัดการปัญหาส่วนนี้ด้วย”
“เคสตัวอย่าง วิภาวดี 20 ภาพตัวอย่างสถานการณ์ในแคมป์ วิภาวดีซอย 20 แรงงาน 190 คน ต่างชาติเกือบทั้งหมด พบติดเชื้อโควิด 70 คน แยกออกมานอนที่เต็นท์พื้นปูน (ตามภาพคือเต็นท์เขียวพื้นปูน ช่วงกลางวันแดดออกทำให้ภายในร้อน ถ้าหากฝนตกลงมาน้ำท่วมผู้ป่วยต้องอยู่กับน้ำที่ท่วมเข้ามา) บริษัทส่งอาหารปรุงสุกให้วันละ 1 กล่อง พร้อมอาหารแห้งจำนวนจำกัด มีทีม สปสช. ลงพื้นที่ไปทำ Swab Test ในซอยนี้ยังมีอีกหนึ่งแคมป์ในวิภาวดีซอย 20 ซึ่งมีแรงงาน 40 คน แยกผู้ติดเชื้อแล้ว” ไชยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ