จับตาส.ค.-ต.ค. พายุจรเข้าไทย 3 ลูก กรมชลฯเฝ้าระวัง 40 จังหวัด เสี่ยงน้ำหลาก-ท่วม





จับตาส.ค.-ต.ค. พายุจรเข้าไทย 3 ลูก กรมชลประทานเฝ้าระวัง 40 จังหวัด 170 อำเภอ และ 538 ตำบล พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วม

กรมชลประทาน ลุ้น ส.ค.- ต.ค.พายุจรเข้าไทย2-3ลูกเติมน้ำเขื่อน “ประพิศ” สั่ง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมใน 40 จังหวัด-จำลองน้ำ 7 สถานการณ์ เขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี คาดปีนี้มีน้ำใช้มากกว่าปี 63 เพียงพอฤดูแล้งหน้า

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.64 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำครั้งที่ 29/2564 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไทยอาจมีพายุจรในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค.64 ประมาณ 2-3 ลูก อิทธิพลลมพายุจะทำให้เกิดฝนตกอย่างสม่ำเสมอในประเทศไทย และมีฝนตกชุกในภาคตะวันตก ส่งผลให้น้ำไหลลงเขื่อนมากขึ้น

ซึ่งการพยากรณ์ของกรมอุตุฯ ประเมินกันเกือบทุกสัปดาห์ ดังนั้นกรมชลประทานต้องจับตาพายุ และสถานการณ์น้ำฝน เพื่อบริหารจัดการน้ำในเขื่อนไม่ให้กระทบกับประชาชนบริเวณใกล้เคียงกรณีมีน้ำมาก และเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในกรณีน้ำน้อย

นายประพิศ กล่าวอีกว่า ช่วงนี้ถึง 2 ส.ค.จะมีอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ สปป.ลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ทำให้มีฝนตกหนักบางพื้นที่ จึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง โดยในภาพรวมเดือนส.ค. ต้องระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใน 40 จังหวัด 170 อำเภอ และ 538 ตำบล

ช่วงที่ผ่านมาโครงการชลประทานทั่วประเทศได้ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคัน บริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมชุมชน พร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุ รับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ

เพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง โดยกรมชลประทานจำลองสถานการณ์กรณีมีฝนตกตามที่กรมอุตุฯ คาดการณ์ ว่าตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไปจะมีปริมาณน้ำฝนสม่ำเสมอ สถานการณ์น้ำไหลลงอ่างขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ ไว้ 7 รูปแบบ ณ 1 พ.ย.2564

สำหรับรูปแบบที่ 1กรณีมีน้ำมาก เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 58,399 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 82% ของความจุ 2.กรณีน้ำเฉลี่ยเขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 51,295 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 72% ของความจุ 3.กรณีน้ำน้อยเขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 39,538 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 56% ของความจุ 4.กรณีน้ำปี 2539 เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 55,098 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 78% ของความจุ 5.กรณีน้ำปี 2551 เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 51,791 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 73% ของความจุ 6.กรณี One Map เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 46,421 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 65% ของความจุ และ7.กรณีเลือกปี เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 52,038 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 73% ของความจุ

หากให้ประเมินสถานการณ์น้ำกรณีเลือกปี น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์ดี มีปริมาณน้ำตั้งแต่ 81-100% ขึ้นไป ของความจุจำนวน 15 แห่ง ปริมาณน้ำตั้งแต่ 51-80% ของความจุจำนวน 12 แห่ง

ซึ่งถือว่าน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ปริมาณน้ำตั้งแต่ 31-50% ของความจุ มีจำนวน 7 แห่ง ถือว่าปริมาณน้ำพอใช้ และปริมาณน้ำน้อยไม่เกิน 30% ของความจุจำนวน 1 แห่ง โดย 1 พ.ย.นี้ คาดมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2563 อยู่ประมาณ 8,624 ล้าน ลบ.ม.

ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานมองว่า สถานการณ์น้ำปี 2564 จะใกล้เคียงปี 2551 คือมีน้ำใช้การได้มากกว่าปี 2563 อยู่ปริมาณ 8,377 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะเพียงพอสำหรับใช้ในฤดูแล้งหน้าจนกว่าฝนใหม่จะมา

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: