‘รัฐบาล’ เร่งเพิ่มคลินิกเอกชน ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เผยรักษาตัวที่บ้าน ได้สิทธิเคลมประกัน-เงินย้อนหลัง
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้เพิ่มระบบการบริหารจัดการผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยให้เข้าสู่การดูแลที่บ้าน (Home Isolation) และการดูแลที่ชุมชน (Community Isolation)
เพื่อให้ได้รับการรักษาตัวได้เร็วขึ้น และลดการครองเตียงในโรงพยาบาลสนาม ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงกว่าได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้ มีหน่วยบริการสาธารณสุขทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และศูนย์สาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย Home Isolation
นอกจากนี้ ในพื้นที่ กทม. ยังมีคลินิกเอกชนมากกว่า 3,000 แห่ง ที่ยังไม่ได้เป็นคู่สัญญากับทาง สปสช. ซึ่งรัฐบาลอยากเชิญชวนให้เข้าร่วม เพราะจะช่วยเป็นหน่วยกระจายการดูแล ที่ครอบคลุมอุปกรณ์ตรวจร่างกายปรอทวัดไข้และเครื่องวัดระดับออกซิเจน ยาฟ้าทะลายโจร/ฟาวิพิราเวียร์ ให้ตามระดับอาการที่แพทย์วินิจฉัย อาหารสามมื้อ คลีนิกที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อลงทะเบียน โทร 08-9969-6492 หรือสอบถาม สปสช. หมายเลข 1330 และเมื่อเป็นคู่สัญญาแล้ว จะได้รับการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยแบบเหมาจ่าย อัตรา 3,000 บาท/ราย/สัปดาห์
น.ส.รัชดากล่าวว่า ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกตัวมาดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน ทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนให้ผู้ป่วยที่ได้ซื้อกรมธรรม์สามารถเคลมประกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกรมธรรม์คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน แต่เฉพาะค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น
ส่วนกรณีกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวันเมื่อต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วย จะได้ค่าชดเชยรายวันสูงสุด 14 วัน นับแต่วันที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในสถานพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ
โดยคลินิกและโรงพยาบาลที่ดูแล จะเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ให้หลังได้รับการรักษาครบกำหนด เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการเคลมประกันต่อไป มากไปกว่านั้น การคุ้มครองสิทธิในการเคลมประกันจะมีผลย้อนหลังก่อนวันออกประกาศนี้ด้วย ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้ลงทะเบียนแยกดูแลที่บ้านและชุมชน ก่อน 29 กรกฎาคม สามารถเคลมประกันได้
น.ส.รัชดากล่าวว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ ทาง สปสช. จะเริ่มแจกชุดตรวจเร็ว Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งมีแผนจัดซื้อ 8.5 ล้านชุด ผ่านหน่วยบริการสาธารณสุข โรงพยาบาล คลินิก และศูนย์อนามัย ตามพื้นที่เป้าหมาย และเมื่อมีคลีนิกเอกชนร่วมเป็นภาคีการทำงานกับ สปสช.เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การคัดกรองและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เบื้องต้น ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้นอีก เป็นการลดการแพร่เชื้อในวงกว้างและจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการได้อย่างมาก
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ