นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล อ้างเอกสารเตรียมเสนอเพิ่มกฎหมาย นิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง แก่คณะบุคคลที่จัดหาและบริหารวัคซีนโควิด 19 ไม่ต้องรับผิดชอบ แม้ทำงานล้มเหลว
เมื่อวานนี้ (6 สิงหาคม 2564) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เปิดเผยข้อมูล อ้างว่าได้รับเอกสารเตรียมเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่งให้กับคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด 19 โดยไม่ต้องรับผิดชอบ จึงมีการแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการจะออกกฎหมายดังกล่าว
นายวิโรจน์ เผยว่า ตนเองได้รับเอกสารนี้ ที่เสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์สำหรับการปฏิบัติงานตามข้อสังการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเอกสารทางการ ฉบับล่าสุดหรือไม่ จึงขออนุญาตให้ทรรศนะในเบื้องต้นว่า โดยหลักการแล้ว ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การจำกัดความรับผิดทั้งทางอาญา และแพ่ง ให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติด่านหน้า ที่ทำงานเต็มความสามารถ โดยสุจริต และไม่ได้เลือกปฏิบัติ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว
แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้นรุนแรงอยู่ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบาย ทั้ง ๆ ที่ควรจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
1. การไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน
2. การจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ขาดการวางระบบในการจัดการ และการบริหารฐานข้อมูลที่ดี
3. การเบิกจ่ายงบประมาณในการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น ที่ขาดประสิทธิภาพ ดูเบาต่อสถานการณ์ ฯลฯ
ทั้งนี้ ประเด็นต่าง ๆ ข้างต้น เป็นที่สงสัยจากภาคประชาชนว่าเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ต้องตายคาบ้าน ตายกลางถนน เป็นความสูญเสียอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ทำให้เด็กต้องเป็นกำพร้า ไม่ได้รับโอกาสที่จะได้กอดพ่อแม่ของพวกเขาอีก รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ หลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว แถมยังต้องแบกหนี้สินที่ล้นพ้นตัวอีก
โดยควรต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ควรที่จะออกกฎหมาย “นิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง” แบบนี้
ในข้อที่ 7. ที่จะคุ้มครองให้บุคคล และคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีน ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัส นั้นมีความเกี่ยวข้องกับบุคคล หรือคณะบุคคลเหล่านี้หรือไม่
สำหรับข้อยกเว้น ที่กฎหมายนี้จะไม่คุ้มครอง ที่มีอยู่เพียง 3 ข้อ ได้แก่…
– การกระทำโดยไม่สุจริต
– การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
– การกระทำเกิดจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
เป็นข้อยกเว้นที่กว้างเกินไป และในทางปฏิบัติก็สามารถอ้างได้อยู่แล้วว่าทำโดยสุจริต มีคณะร่วมตัดสินใจอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้คนพ้นจากความรับผิดได้อยู่แล้ว หากจำเป็นต้องมี พ.ร.ก.ฉบับนี้ ก็ควรจะคุ้มครองเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายเท่านั้น
แต่ไม่ควรคุ้มครองบุคคล หรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่ตัดสินใจในการจัดหา และบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งหากดำเนินการด้วยความสุจริตจริง กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ก็คุ้มครองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกึ่งนิรโทษกรรมล่วงหน้า แบบที่คณะรัฐประหารใช้ แบบนี้
การกระทำ หรือการตัดสินใจใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชา หรือไม่นำพาผลการศึกษาวิจัยที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใส่ใจในคำทักท้วงของผู้รู้ หรือสมาคมวิชาชีพ ถือดีว่าตนเป็นผู้มีคุณวุฒิสูง ก็เอาอัตตาของตนเองเป็นที่ตั้ง นำเอาชีวิตของประชาชนมาเดิมพัน ย่อมไม่ควรได้รับความคุ้มครองให้ปราศจากความรับผิดตามกฎหมาย เพราะจะถูกหรือผิด กระบวนการยุติธรรมโดยศาลยุติธรรม ท่านก็จะวินิจฉัยเองว่า ควรได้รับโทษทางอาญา หรือทางแพ่ง หรือไม่ อย่างไร
นายวิโรจน์ ทิ้งท้ายว่า การออกกฎหมายกึ่งนิรโทษกรรมให้กับคณะบุคคลที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญแบบนี้ หากในอนาคต เราพบข้อเท็จจริงที่เป็นกรณีบกพร่องอย่างร้ายแรง หรือกรณีที่เล็งเห็นถึงหายนะที่เกิดขึ้นได้ แต่เพิกเฉย ลอยชายตามระบบรัฐราชการรวมศูนย์ เห็นชีวิตประชาชนเป็นผักปลา แล้วเราจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ตายไปได้อย่างไร เราจะมีหน้ามองตาของเด็ก ๆ ที่ต้องกำพร้าพ่อแม่ได้อย่างไร
ตนเห็นด้วยให้คุ้มครองเฉพาะบุคลากรคนด่านหน้า อย่านิรโทษล่วงหน้าให้กับผู้ที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ