หมอริท ฟาดจัดหนักถึงผู้มีอำนาจ ลั่น ถ้าทำเต็มที่แล้วได้แค่นี้ต้องพิจารณาตัวเอง ทำไมต้องให้ถึงตน หลังใช้เงินตัวเองทำโครงการช่วยผู้ป่วยโควิด ยันสถานการณ์หนักจริง
เป็นคนดังอีกหนึ่งคนที่ทำโครงการช่วยผู้ป่วยโควิด 19 สำหรับ นักร้องหนุ่ม หมอริท เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือ ริท เดอะสตาร์ ซึ่งเจ้าตัวทำโครงการ “หมอริทช่วยโควิด” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอการรักษาและผู้ป่วยยากจน โดยเป็นการรักษาแบบ Home Isolation ส่งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร และติดต่อประสานเตียงให้ผู้ป่วย พร้อมทั้งเปิดรับบริจาคอาหารแห้งและยาโดยไม่รับเงิน
ล่าสุด (13 สิงหาคม 2564) รายการแฉ ทางช่อง GMM 25 ได้สัมภาษณ์หมอริท เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ซึ่งหมอริท บอกว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการมา 10 กว่าวัน ก็แทบไม่ได้นอนเลย
หมอริท เล่าว่า ตนเองไปอ่านตามเพจต่าง ๆ ที่เป็นอาสาช่วยผู้ป่วยโควิด 19 ก็เจอคอมเมนต์ว่าผู้ป่วยโอเคกับการทำ Home Isolation แต่มักจะติดปัญหาที่ติดต่อไปที่ไหนก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับ ตนจึงมองเห็นปัญหาและเข้ามาช่วย ตอนแรกมีแค่ตนเป็นหมอแค่คนเดียวและพนักงานในคลินิกที่มาช่วยกัน ซึ่งตอนนี้คลินิกถูกปิดอยู่
– ใช้เงินตัวเองซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มาแจก ส่งให้ผู้ป่วย
หลังจากนั้นก็ซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มาแจกเอง ถ้าคิดราคาผู้ป่วยต่อคนจะตกอยู่ที่คนละ 7,500 บาท ซึ่งกินได้ 5 วัน ถ้าต้องกิน 10 วันก็คือ 15,000 บาท ตกเม็ดละ 100-150 บาท แต่ตอนนี้ราคาอาจจะลงมาหน่อย ซึ่งที่มาคือตนรู้จักกับหมอในชมรม ก็ไปขอรับยาเขามา ช่วงแรกใครมีเงินก็มาซื้อ ใครมีน้อยก็ช่วยกัน แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรตนให้ฟรี
– เปิดโครงการวันแรก มีคนไข้ 3,000 คน ตั้งโครงการยังไม่ถึง 2 อาทิตย์ มีคนไข้ 30,000 คน
แต่ต่อมาผู้ป่วยก็เยอะขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แล้วมีตนเป็นหมอแค่คนเดียว เปิดโครงการวันแรกมีคนไข้ 3,000 คน โดยที่ตนไม่ได้ประชาสัมพันธ์อะไรมากมายเลย ซึ่งในนั้นตนอยู่ทำงานจนถึง 6 โมงเช้า เพราะมีหมอคนเดียวตอนนั้น ยาก็จ่ายเท่าที่จ่ายได้ แล้วพอผู้ป่วยเยอะ เงินของตัวเองก็เริ่มไม่ไหว ตนจึงดิ้นรนหาช่องทางจนได้ปรึกษาหมอเจี๊ยบ ลลนา จนได้นำโครงการไปเสนอสภากาชาดไทย ตนก็เล่าให้สภากาชาดไทยฟังว่า ที่ตนเจอปัญหาคือการที่คนไข้ติดต่อภาครัฐไป แต่ใช้เวลานานกว่าจะได้รับการตอบกลับ กว่าจะติดต่อกลับมาคือประมาณ 3 วันขึ้นไป กว่าจะส่งยามาให้ก็บวกไปอีก 2 วัน เป็น 5 วัน ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ ถ้าจะกินให้ได้ผล ต้องกิน 7 วันแรก แต่นี่ 5 วันไปแล้ว รอผล RT-PCR ไปอีก 2 วัน ก็ 7 วันไปแล้วกว่าจะได้กินยา เกินช่วงการมีประสิทธิภาพของยาแล้ว
– คนทำงานน้อย แต่ทำอะไรไม่ได้ ต้องทำงานหนักขึ้น ทำได้แค่นี้เพราะคนไข้ไม่มีทางไป
ตนจึงแจ้งกับโครงการว่าจะตัดชื่อผู้ป่วยทุกวัน และจะส่งยาให้ผู้ป่วยภายใน 1 วัน ตนจะทำให้ได้ และตนก็ทำให้เห็นจริง ๆ ทางสภากาชาดไทยจึงยอมมอบยาให้ตนมาบริหารเอง ซึ่งตอนนี้เปิดโครงการไม่ถึง 2 อาทิตย์ มีคนไข้ที่อยู่ในความดูแลของตน 30,000 คน ในจำนวนนี้มี 3,000 คน ที่ดูแลเรื่อง Home Isolation แต่ตนมีทีมงานที่ดูแลเพียง 100 คน แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ทำได้แค่ 100 คนนี้ ต้องทำงานหนักขึ้น ทำได้แค่นี้เพราะคนไข้ไม่มีทางไป
– ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์
ตอนนี้ทุกคนเข้าใจแล้วว่าป่วยโควิด 19 ไม่ต้องไปโรงพยาบาลก็ได้ รักษาตัวที่บ้าน ทำ Home Isolation ก็ได้ แต่ติดปัญหาตรงที่เมื่ออยู่บ้านแล้วใครดูแล จะเอายาที่ไหน ติดต่อยังไง
ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ใช่ว่าคนไข้ต้องกินทุกคน กินเฉพาะคนที่มีข้อบ่งชี้ เช่น คนที่มีความเสี่ยงว่าจะป่วยรุนแรง เช่น คนที่มีโรคประจำตัวหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคตับอักเสบ น้ำหนักเกิน 90 กก. เป็นโรคภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้สูงอายุอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณนี้
ส่วนคนที่ไม่เข้าข่ายก็กินยาตามอาการได้เลย สำหรับฟ้าทลายโจรก็มีข้อบ่งชี้ในการใช้ แต่โครงการตนส่งยาฟาวิฟิราเวียร์ได้เร็วมากจึงไม่ต้องใช้ฟ้าทลายโจรเลย ส่วนผู้ป่วยโควิดที่จะกินต้องกินแค่ 5 วัน และเป็น 5 วันแรกที่ติดเชื้อ ถ้ายาฟาวิฟิราเวียร์ถึงมือ ต้องหยุดฟ้าทลายโจร ห้ามกินคู่กัน
– เตียงไม่พอ ก็ต้องทำทุกทางเพราะคนป่วยอยู่บ้านไม่มีหน่วยงานดูแล
ตอนนี้คนป่วยโควิด 19 เยอะมาก ถ้าคนรวย มีฐานะ ก็คงมีช่องทางติดต่อรักษาตัว เช่น โรงพยาบาลเอกชนที่อาจจะยังรองรับได้อยู่ แต่ถ้าคนทั่วไป รากหญ้า หรือคนที่ไม่รู้จะไปทางไหน ถ้าไม่ติดต่อภาครัฐ เขาจะติดต่อใครได้
ถ้าต้องจ่ายเงินเพิ่ม เขาทำไม่ได้ จ่ายไม่ไหว แค่นี้เศรษฐกิจก็แย่อยู่แล้ว และถ้าไม่มีคนมารองรับเขา เขาจะไปไหน เคสสีเขียวยังโอเค อาจจะหายเองได้ แต่เคสเหลืองเข้ม เคสสีแดงที่เป็นเคสฉุกเฉิน ก็ติดต่อไม่ได้เลย มันเกินการรองรับแล้ว มันเกินความสามารถของสิ่งที่ภาครัฐมีอยู่ตอนนี้แล้ว
Home Isolation ไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลเคสสีเหลืองเข้ม เคสสีแดง แต่ทุกวันนี้ Home Isolation ต้องเข้ามาดูแลเพราะไม่มีใครดู หน่วยงานรัฐดูแลไม่ทัน สิ่งที่ตนต้องทำตอนนี้คือส่งอะไรไปได้ก็ส่งไปก่อน เช่นถังออกซิเจน
– ไม่เชื่อยอดผู้ติดเชื้อของรัฐ ยอดจริงต้องคูณ 3 ถ้าเอาตามที่ตนเก็บสถิติเอง
ตนไม่เชื่อยอดที่ทางภาครัฐนำเสนอทุกวันนี้ ถ้าเอาตามสถิติของตนที่ตนเก็บเองของคนไข้ที่ติดต่อตนมา ใน 30,000 คน เป็นผล RT-PCR แค่ 1 ใน 3 ที่เหลือคือ ATK ถ้าเอาตามสถิติของทางภาครัฐก็ต้องเอาสถิติที่ตนเก็บคูณ 3 เข้าไป ก็จะกลายเป็นประมาณ 60,000 คนต่อวัน นี่คือสถิติที่ตนเก็บเอง ไม่ใช่ทางการเก็บ
ส่วนผลตรวจ ATK ตนก็ให้ยา ซึ่งอาจจะมีผลจริง ผลปลอมบ้าง แต่ช่วงระหว่างที่รอผล RT-PCR ถ้าไม่ทำอะไรเลย จากค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ 8,000 บาท จะกลายเป็นค่า ICU 8 แสนบาท ซึ่งนับเป็น 100 เท่าตัว
ปัญหาตอนนี้จากระดับบนสุดคือเตียงไม่พอ เราก็ต้องสกัดคนที่จะไปเอาเตียงให้ได้มากที่สุดด้วยการทำอะไรก็ได้ให้มันเร็วที่สุด ดูแลคนไข้ให้ทันภายใน 7 วันหลังติดเชื้อ จะได้สกัดปลายทางที่บอกว่าเตียงไม่พอ แล้วเตียงนั้นจะได้เอาไปใช้กับผู้ป่วยสีแดง หรือผู้ป่วยที่ต้องการเตียงจริง ๆ ต้องเป็นแบบนี้แล้ว
แนะนำคนที่บริหาร มาดูสิ่งตนที่ทำ จะได้เลิกอวยกันเองว่าเตียงพอ
ถ้าคนที่เข้าไปบริหารแล้วก็ ไม่รู้สิ ไม่รู้ว่าเขาเต็มที่หรือยัง ถ้าเต็มที่แล้วก็ขอบคุณมากครับ แต่ถ้าเขาเต็มที่แล้วได้แค่นี้ก็ต้องพิจารณาตัวเอง เพราะว่ามันไม่ใช่ นี่ไม่ใช่หน้าที่ตน ตนทำตรงนี้ตนไม่ได้เงินแม่แต่บาทเดียว
โครงการตนไม่มีใครสนับสนุน ตั้งแต่ทำโรงการมาตนรับมาเงินมาแค่ 40,000 บาท ที่มาจากคนที่มาช่วยตนแพ็กยาเพราะเขาสงสารตนเพราะตนจ่ายเงินออกไปเยอะ ตนไม่ได้อะไรเลยจากตรงนี้
“แต่นั่นหน้าที่คุณ ที่คุณต้องดูแล เนี่ย คุณเข้ามาทำ บทบาทเนี่ย คุณต้องดูแลสิ ไม่ใช่หน้าที่เรา ปล่อยมาถึงเราได้ไง ปล่อยมาถึงริทได้ไง แล้วถ้าไม่เชื่อสิ่งที่ริทพูด มาดู มาคุยกับริทก็ได้ เดี๋ยวเปิดให้ดูว่าสิ่งที่ริทเจอมันคืออะไร สิ่งที่ริทดูอยู่มันคืออะไร แล้วจะได้แบบ เลิกอวยกันเองข้างในว่า อ๋อ เตียงพอค่ะ อ๋อ ดูแลทั่วถึงค่ะ เลิก แล้วมาดู”
“ไม่ต้องจรรยาบรรณหมอหรอก แค่เป็นมนุษย์ก็พอ ตอนนี้ที่ต้องช่วยกันแล้ว เพราะมันไม่รู้จะพึ่งใครแล้ว ตอนนี้ใครช่วยกันได้ ก็ต้องช่วย แม้กระทั่งตัวคนไข้เองก็ต้องช่วยกันด้วย”
– ตอนนี้สถานการณ์ไม่ไหวแล้ว วอนผู้ป่วย 1 คน ถ้าได้รับการดูแลแล้วไม่ต้องติดต่อหน่วยงานอื่นซ้ำ
สิ่งที่อยากฝากตอนนี้ ไม่ได้พูดให้ตระหนกหรือตื่นกลัว แต่ต้องรู้สถานการณ์ไว้ด้วย คือ ตอนนี้คนไข้ 1 คน ถ้ามีหน่วยงานดูแลแล้ว ไม่ต้องติดต่อซ้ำแล้ว เพราะตอนนี้แค่ 1 คน ต่อ 1 หน่วยงาน ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดูเลย แล้วถ้า 1 คน ต้องการการดูแลทั้งภาครัฐ เอกชน หรืออาสาสมัคร กลายเป็นเราต้องเสียทรัพยากรไปตั้งเท่าไหร่
ยืนยันว่าโครงการของตนไม่รับเงิน ตอนนี้โครงการของตนไม่อยากได้อะไรเลย เพราะรอบที่แล้วที่เปิดรับบริจาคไปก็มีของเพียงพอแล้ว ตนประยุกต์คลินิกตนเป็นที่เก็บของ ซึ่งตอนนี้ไม่มีที่เก็บแล้ว
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ