“อนุทิน” เตรียมบินลงใต้ ตามโควิดระบาด หลังแนวโน้มยังสูง หาสาเหตุติดเชื้อมาก พร้อมส่งวัคซีนไฟเซอร์ 5 แสนโดสช่วยคุม ประสานจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนเหมือน กทม. ยันรัฐพร้อมหนุนซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ ส่วน สูตรไขว้แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ มีผู้เชี่ยวชาญดูแล
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 พื้นที่ภาคใต้ ว่า ช่วงปลายสัปดาห์นี้จะเดินทางไปติดตามสถานการณ์การระบาดและการฉีดวัคซีน โควิด 19 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และถือโอกาสคุยกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เพื่อขอให้ช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราความรุนแรงของโรค
เพราะหากติดเชื้อเยอะสถานพยาบาลอาจไม่เพียงพอ ซึ่งเราไม่อยากเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกนอกเขตพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ขณะนี้ยังมีเตียง สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และยาฟาวิพิราเวียร์เพียงพอ เตรียมพร้อมรองรับไว้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีระบบเขตสุขภาพช่วยกันดูแลผู้ป่วย ซึ่งภาคใต้เป็นเขตสุขภาพที่ 12 มีสงขลา หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช ที่มีโรงพยาบาลศูนย์รองรับ
“หากดูแลภาคใต้ที่มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 2,300 รายได้ ตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ของไทยก็จะต่ำกว่าหลักหมื่นราย ส่วนที่ต้องลงไปดูด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าบุคลากรสาธารณสุขพยายามควบคุมโรคอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องไปดูว่าทำไมยังติดเชื้อเยอะ จะแก้ไขอย่างไร เราส่งไปทุกอย่างเลย กรมควบคุมโรคก็จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ 5 แสนโดสด้วย และกำชับให้เร่งฉีด อย่างน้อยวัคซีนไปถึงประชาชนได้ฉีดแล้วอย่างไรก็ลด เหมือนกับ กทม. ฉีดเกิน 70% ก็ควบคุมการติดเชื้อได้ สถานการณ์ดีขึ้น เราก็ต้องแก้ไขปัญหาเป็นจุดๆ ไป” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการประสานในแต่ละตำบลเพื่อจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ เนื่องจากพี่น้องชาวใต้ อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่มั่นคง ดังนั้น หากทำได้การใช้ชีวิตก็จะได้อยู่ด้วยกันในชุมชน เหมือนกับการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ใน กทม. ก่อนหน้านี้ที่มีการรักษาในศูนย์พักคอย (CI) หรือการแยกกักที่บ้าน(Home Isolation)
นายอนุทิน กล่าวว่า กรมการแพทย์เสนอให้มีการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุน ส่วนการระบาดในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มพบมากขึ้น สธ.ได้เตรียมระบบสาธารณสุขรองรับไว้แล้ว ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดจะมากกว่าชีวิตวิถีใหม่ คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและเว้นระยะห่าง แต่ที่เพิ่มขึ้นคือบอกตัวเองว่า ไปที่ไหนก็เสี่ยง เพื่อให้เราเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น อย่างน้อยวัคซีนก็ทำให้เกิดความปลอดภัย มั่นใจได้ว่าไม่ป่วยหนัก รักษาให้หายได้
นายอนุทิน กล่าวถึงการฉีดวัคซีนสูตรไขว้แอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ ว่า เรื่องนี้มีอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่มีอาจารย์แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญดูแลอยู่ โดยจะนำมติของอนุกรรมการฯ มาปฏิบัติ แต่ยืนยันว่าวัคซีนที่นำมาฉีดให้ประชาชนมีความปลอดภัยทุกชนิด ผ่านการรองรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ