นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่มาจากอิทธิพลพายุโซนร้อน เช่น พายุเตี้ยนหมู่ ไลออนร็อก คมปาซุ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนทรัพย์สินที่อยู่อาศัยของเกษตรกรลูกค้าและประชาชนทั่วไป และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการประกอบอาชีพ การสร้าง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหลังจากได้รับความเสียหาย วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.50% ต่อปี) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกู้
โดยก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ได้ออกสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประสบภัยนำไปใช้จ่ายที่จำเป็นเร่งด่วนภายในครัวเรือน รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และตั้งแต่เดือนที่ 7 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.50% ต่อปี) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันกู้
“นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้พนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ พร้อมจัดหาถุงยังชีพไปมอบให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน รวมถึงเข้าไปสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม และความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ อีกทั้ง ธ.ก.ส. ได้พิจารณาขยายระยะเวลาชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยออกไปสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ตามศักยภาพของลูกหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของเกษตรกรผู้ประสบภัย เกษตรกรผู้ประสบความเดือดร้อนสามารถติดต่อ ธ.ก.ส. ในพื้นที่เพื่อขอรับการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ได้ทันที หรือสอบถามที่ Call Center 02 555 0555” นายสมเกียรติ กล่าว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ