ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 29 เตือน พื้นที่ภาคใต้ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง 11-15 พ.ย. นี้
วันที่ 11 พ.ย.2564 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ ฉบับที่ 5 (187/2564) ลงวันที่ 10 พ.ย. 2564 คาดการณ์ในช่วงวันที่ 10 – 13 พ.ย. 2564 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้nมีกำลังแรงทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 27/2564 ลงวันที่ 6 พ.ย. 2564 แล้วนั้น
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP)
ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ประกอบกับพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 11 – 15 พ.ย. 2564 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากบริเวณที่ลาดเชิงเขา บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ ภูเก็ต และตรัง
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำตาปี อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา และอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณคลองท่าดี อำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และคลองชะอวด ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่
และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ทะเลสาบสงขลา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แม่น้ำปัตตานี อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี และแม่น้ำโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า
90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลงของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
3. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
5. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ