ธ.ก.ส. หนุนเกษตรกรสร้างอาชีพสู้วิกฤตโควิด-19 ส่งเสริมองค์ความรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง หนุนนวัตกรรมและการบริหารจัดการเพื่อต่อยอดการสร้างอาชีพและกิจกรรมทางธุรกิจ ควบคู่การเติมสินเชื่อ ตั้งเป้าช่วยแรงงานคืนถิ่น-บัณฑิตจบใหม่รวมกว่า 6 หมื่นราย
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนิน “โครงการ 1 สาขา สร้างอาชีพสู้วิกฤตโควิด-19” โดยให้ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศกว่า 1,200 สาขา ค้นหาเกษตรกรลูกค้า บุคคลในครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ผู้ที่ลงทะเบียนขอสินเชื่อโควิด-19 แรงงานคืนถิ่น บัณฑิตจบใหม่ที่ยังว่างงาน และสนใจที่จะนำความรู้มาพัฒนาภาคการเกษตร
รวมถึงกลุ่มบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มศักยภาพลูกค้าเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นต้น เพื่อเข้าร่วมการพัฒนา ฟื้นฟู และสร้างอาชีพใหม่ ๆ โดยให้มีการส่งเสริมอาชีพอย่างน้อย 1 อาชีพต่อ 1 สาขา เป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 10,000 ราย ภายในปี 2564 และอีก 50,000 ราย ในปี 2565
สำหรับการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย การสนับสนุนการพึ่งตนเอง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ผ่านระบบ E-Learning หรือแหล่งเรียนรู้ เช่น ชุมชนต้นแบบฯ / ศูนย์เรียนรู้ฯ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น โดยนำความองค์ความรู้ทักษะ มาเป็นแนวทางปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฏีใหม่ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง และพึ่งพาซึ่งกันและกันในการต่อยอดการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ สร้างกิจกรรมทางธุรกิจ
โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ร่วมจัดทำแผนชีวิต หรือแผนครัวเรือน และกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับครัวเรือน เช่น โครงการ 459 โครงการเกษตรกรรมยั่งยืน (เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ และเกษตรธรรมชาติ) เป็นต้น
“การสนับสนุนการสร้างอาชีพ โดยยึดหลักการรวมกลุ่มและการมีส่วนร่วมของสมาชิก การจัดทำแผนพัฒนาของกลุ่ม (แผนอาชีพ หรือแผนธุรกิจ) พร้อมกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ จากนั้นต่อยอดการพัฒนาสู่โครงการอื่น ๆ อาทิ โครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย โครงการเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer โครงการสนับสนุนชุมชนสร้างมูลค่าเพิ่มจากไม้ตลอดห่วงโซ่การผลิต การปลูกพืชทางเลือกใหม่ เป็นต้น”
นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมในการพัฒนาช่องทางการตลาด Online ที่เชื่อมโยงไปสู่ตลาด Social Commerce และตลาด Offline รองรับการจำหน่ายผลผลิตทั้งภายในและภายนอกชุมชน เช่น ตลาดนัดของดีวิถีชุมชน ส่วนงานราชการ เรือนจำ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม สถานีบริการน้ำมัน PTTOR เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือค่าลงทุน อาทิ สินเชื่อร่วมกลุ่ม สินเชื่อสู้ภัยโควิด สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน เป็นต้น
ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ