‘ศุภชัย’ แจง ’30 บาทรักษาทุกที่’ เป็นการต่อยอด ‘บัตรทอง’ พัฒนางานบริการ ปชช.





‘ศุภชัย’ แจง ’30 บาทรักษาทุกที่’ เป็นการต่อยอด ‘บัตรทอง’ พัฒนางานบริการ ปชช.

5 มกราคม 2565 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Suphachai Jaismut ระบุว่า

ให้ต่อยอด
ดีกว่าถูกทำลาย

ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านเดินหน้าพัฒนางานด้านบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชน มีสุขภาพดี อย่างทั่วถึง เท่าเทียม

30 บาท รักษาทุกที่เป็นนโยบายที่ท่านขับเคลื่อนอย่างหนักตลอดปีที่ผ่านมา นี่คือนโยบาย ที่พัฒนาขึ้นมาจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาลไทยรักไทย นี่เป็นนโยบายที่ดีมาก ซึ่งท่านอนุทิน ก็อยู่ในรัฐบาลชุดนั้นด้วย ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ช่วยกันปลุกปั้นขึ้นมา

แต่ก็มีเรื่องที่ต้องแก้ไข เพราะแต่เดิม ผู้ป่วย ใช้สิทธิ์ ได้ตามสถานพยาบาลที่กำหนดเท่านั้น เป็นข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ข้อมูลการรักษาของผู้ป่วย ยังเป็นเอกสาร ยังเป็นกระดาษ ต้องรวบรวมไว้ ณ ที่หนึ่งเป็นหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกเมื่อผู้ป่วย มารับบริการ ประวัติต่างๆ จะรวมอยู่ที่สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ ง่ายต่อการวินิจฉัยรักษา

ทว่า หากเกิดการเจ็บป่วย นอกพื้นที่ นี่ คือความยากลำบาก เพราะหากจะใช้สิทธิ์ ก็ต้องดั้นด้น กลับมาที่โรงพยาบาล ที่ลงทะเบียนไว้ หรือถ้าไปใช้สิทธิ์ รับการรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ก็ต้องหาช่อง หาทาง กลับไปเอาใบส่งตัว มีความยุ่งยาก วุ่นวายไม่น้อย

ขอย้ำว่า นี่เป็นปัญหาของเทคโนโลยีสมัยนั้น ผมไม่ได้บอกว่านโยบายบัตรทองย่ำแย่แต่อย่างใด นี่คือนโยบายที่ดีมากๆ ผมมีเพื่อนบ้าน ก็รอดตายเพราะนโยบายนี้

แต่เมื่อผ่านมาแล้ว 20 ปี เทคโนโลยีการสื่อสารมันพัฒนาขึ้นมาก มันได้ทลายข้อจำกัดด้านการส่ง DATA จากที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่งแล้ว ทุกโรงพยาบาล มีเครือข่ายข้อมูลกลาง สามารถส่งข้อมูลถึงกันและกันได้ ความคล่องตัวที่เกิดขึ้น ทำให้ ผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องยึดติดการรับบริการในสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ แต่สมควร จะเข้ารับการรักษาต่างพื้นที่ได้ เพียงแต่ต้องมีการออกกฎกรอบมารองรับ ไปจนถึงแนวทางปฏิบัติ

จึงเป็นที่มาของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งนำร่องใช้มาแล้วในหลายพื้นที่ พบว่า ใช้ได้ดี เป็นที่ถูกใจของประชาชน และปีนี้ 2565 จะยกระดับกระจายการให้บริการให้ทั่วถึงทั้งประเทศ

หากประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ แล้วเกิดการเจ็บป่วยที่ไม่ใช่กรณีป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการในระบบบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ

การยกระดับนโยบายนี้ เพราะท่านอนุทินเชื่อว่าประชาชนที่เจ็บป่วยอาจมีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการในพื้นที่นอกหน่วยบริการที่ตัวเองลงทะเบียนไว้ ซึ่งที่ผ่านมาอาจต้องถูกเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาอีกครั้ง อันเป็นความทุกข์ของประชาชน ดังนั้นท่านจึงได้ประกาศแนวทางนี้ให้เป็นนโยบาย และเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 แก่พี่น้องประชาชน

ขอย้ำว่า การยกระดับบัตรทองเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ท่านได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ โดยเน้นใน 4 บริการ ได้แก่

1. ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ หรือ 30 บาทรักษาทุกที่

2. ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว

3. โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ และ

4. ย้ายหน่วยบริการ ได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน

นับว่าเป็นเรื่องดีๆ ที่ท่านใช้บทบาทหน้าที่ เพื่อยกระดับงานบริการคนไทย และผมก็เชื่อว่าหลายคนยินดีกับเรื่องนี้

แต่บางคนกลับเห็นต่างๆ และไปกล่าวหาว่าท่านลอกการบ้านรัฐบาลโน้น

ประเด็นคือ รัฐบาลโน้น ท่านอนุทิน ก็ร่วมทำงานอยู่ด้วย ก็ร่วมอยู่ในการประเดิมนโยบายนี้ ในช่วงตั้งไข่ 3-5 ปีแรก ในฐานะของ รมช.กระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนั้น ในเมื่อนโยบายดี ก็ควรจะต่อยอดให้ดีขึ้น ผมว่า น่าชื่นชมนะ กับการพัฒนางาน เพื่อยกระดับงานบริการประชาชน ทำแล้ว ประชาชนได้ประโยชน์ผมว่าเป็นเรื่องน่ายินดี

การทำงานของท่านอนุทิน ยังให้เกียรติ รัฐบาลที่ริเริ่มโครงการนี้ เพราะ KEY WORD คำว่า 30 บาท ยังอยู่ครบ ไม่ได้ต้องการจะลบภาพจำแต่อย่างใด

และที่สำคัญที่สุด จำได้ไหม นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ถูกแรงเสียดทาน และมีกระบวนการพยายามทำให้หายไปอยู่ตลอดในรอบหลายปีหลัง แต่ก็เป็นท่านอนุทิน ที่ยืนยันความจำเป็นของนโยบายบัตรทอง ว่าต้องมีต่อ และต้องทำให้ดีขึ้น ท่านยืนยันว่า เป็นสิทธิ์ที่ประชาชนพึงได้รับ การเกิดขึ้นของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ จึงเป็นเครื่องยืนยันเจตนารมย์นั้น พร้อมกับตอกย้ำว่า ตราบใดที่ท่านยังดำรงตำแหน่งอยู่ตรงนี้ นโยบายบัตรทองต้องดีขึ้น และไม่มีทางหายไปจากประเทศไทย

#30บาทรักษาทุกที่

 

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: