กทม. ออกประกาศ ร้านอาหารนั่งดื่มถึง 5 ทุ่ม ผับ-บาร์-โอเกะ ยื่นขออนุญาตปรับรูปแบบสถานประกอบการต่อสนง.เขต
เมื่อวันที่ 22 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกประกาศ สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 50 โดยในเนื้อหาระบุว่า ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 50) ตามที่ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 49) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565 นั้น
ต่อมาได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 21 มกราคม 2565 โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) สามารถแพรได้เร็ว และมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และประเทศไทยได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพและการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังขันแข็งของพนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายสาธารณสุขฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ได้ช่วยให้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างไรก็ดี ยังคงต้องเพิ่มการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมการระบาดในบางพื้นที่เสี่ยงที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน
โดยเฉพาะในชุมซนหรือสถานที่เสี่ยงที่มีการรวมกลุ่มของบุคคล จึงสมควรปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข
ดังนั้น เพื่อปรับปรุงมาตรการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 49) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565 ให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (6) และมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2564 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565 และ (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 21 มกราคม 2565 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1. การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะเปิดให้บริการได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety and Heatth Administration) ในระดับ SHA PLUS ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หรือตามมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID – 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus) ของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย แล้วเท่านั้น และให้บริกบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา
2. สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะที่ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขแล้ว และประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าวเพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้ขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการจัดการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กำหนด ก่อนเปิดให้บริการได้ภายใต้การกำกับติดตามของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในรูปแบบเป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มตามวรรคหนึ่ง หรือตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 49) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565 ให้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในข้อ 1
3. กรณีนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ เจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ผู้ร่วมกิจกรรม และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ยังคงต้องดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 49) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี
และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหาย อย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2565
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ