สธ.จ่อออก กม.เจาะเลือดตรวจแอลฯ ใช้หักแต้มใบขับขี่ในอนาคต





สาธิต เผย สธ.จ่อออก กม.ใช้วิธีเจาะเลือดตรวจหาแอลกอฮอล์ กรณีมีอุบัติเหตุทางถนน ใช้หักแต้มใบขับขี่ในอนาคต

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการแถลงข่าวชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” กล่าวว่า

สธ. ตระหนักถึงปัญหาบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ด้วยการระบาดโควิด-19 มีการจำกัดการเดินทาง งดกิจกรรมการรวมกลุ่ม งดจัดกิจกรรมช่วงปีใหม่และสงกรานต์ ทำให้ปี 2564 มียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง รวมถึงการตั้งด่านตรวจบูรณาการป้องกันควบคุมโรคและบังคับใช้กฎหมาย ทำให้พฤติกรรมดื่มแล้วขับลดลง

โดยมีผู้เสียชีวิต 16,957 คน คิดเป็น 25.92 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผนแม่บทฉบับที่ 5 ที่จะลดผู้เสียชีวิตให้ต่ำกว่า 25.03 ต่อประชากรแสนคน แต่ปัจจุบันมีการเปิดประเทศ มีการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจะมีการใช้รถใช้ถนนทั้งเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวกันจำนวนมาก

โดยสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ คือ ความประมาทในการขับขี่ ขับรถเร็ว ดื่มสุราก่อนขับขี่ ไม่ใช้หมวกนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้เดินทางอย่างปลอดภัย ยึดหลัก ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ปฏิบัติตามมาตรการ 3 ด่าน 3 ม. คือ ด่านตัวเอง ด่านครอบครัว ด่านชุมชน และ 3 ม. ใส่หมวก สวมแมสก์ ไม่เมา ตรวจ ATK ก่อนกลับบ้านพบญาติผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อกลับถึงบ้านแล้วใช้มาตรการ Family bubble and seal รดน้ำขอพร รับประทานอาหาร ฉลองกันในครอบครัว หลีกเลี่ยงการออกไปสังสรรค์นอกบ้าน

“สำหรับแผนในอนาคต กรณีที่มีการกระทำผิดกฎจราจร จะมีการเจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ เพื่อบันทึกเป็นประวัติในการพิจารณาเรื่องการต่อใบขับขี่ ทั้งนี้ ไม่สามารถปฏิเสธการเป่าแอลกอฮอล์ ขณะที่ผู้ที่ไม่สามารถเป่าได้ ก็จะให้เจาะเลือดตรวจ ส่วนเจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจในการส่งตรวจได้ แต่ถ้าหากมีเหตุเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ดำเนินการ ก็จะมีความผิดในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ปัญหาของการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดนั้น เดิมจะมีงบให้ทางด่านตรวจหรือเจ้าหน้าที่ตำรวนดำเนินการ 7 วันอันตราย แต่ในอนาคตเราจะหางบประมาณเพื่อให้ทำได้ทุกช่วงเวลา ซึ่งกรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการหางบประมาณดังกล่าว” นายสาธิต กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาการดื่มแล้วขับยังไม่มีแนวว่าจะลดลง ยังพบมีการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย กรมควบคุมโรคซึ่งรับผิดชอบ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จึงได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจ ประชาสัมพันธ์และบังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย การขายสุราในสถานที่ห้ามขาย และสำรวจร้านค้าในชุมชนที่ขายสุราในเวลาห้ามขาย นอกจากนี้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องสถานที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งหากพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา จะส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมาย แจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0-2590-3342 หรือสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือดเพื่อหาระดับแอลกอฮอล์เฉลี่ยรายละ 1,000 บาท โดยที่ผ่านมาช่วง 7 วันอันตรายในปีใหม่ที่ผ่านมา ใช้งบประมาณไปราว 1-2 ล้านบาทในการตรวจซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการโดยมี่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ หากจะต้องทำตามแผนนโยบายเจาะเลือดกรณีที่มีอุบัติเหตุ หรือการกระทำผิดบนท้องถนนในทุกรายที่ไม่สามารถเป่าวัดแอลกออฮล์ได้ กรมควบคุมโรคจึงต้องดำเนินการจัดหางบประมาณมาเพิ่มเติม คาดว่าจะใช้ปีละ 20-30 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กรณีหากเกิดอุบัติเหตุทางถนน และพบผู้บาดเจ็บอายุต่ำกว่า 20 ปีจะมีการตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือด ถ้าพบก็จะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเอาผิดกับผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด สำหรับผู้ใหญ่ต้องมีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นผู้ขับขี่สาธารณะต้องศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวัดของเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุรา นอกจากนี้ ยังคงให้ความร่วมมือในการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์โดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565

สำหรับวันควบคุมเข้มข้นวันที่ 11–17 เมษายน 2565 โดยยกเว้นค่าตรวจวิเคราะห์ โดยสามารถตรวจและรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง โดยขอให้เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลควรเจาะเลือดเก็บตัวอย่างภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอุบัติเหตุ และส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจำนวน 784 ราย อายุระหว่าง 10–84 ปี พบปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนดร้อยละ 55 ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 20–29 ปี พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพ และรถเก๋ง

เมื่อถามว่า การตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือด สามารถทำได้ในการจราจรทางน้ำหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า จริงๆ ต้องไปดูรายละเอียด เพราะท่าเรือสาธารณะ สามารถตรวจได้ แต่เมื่ออยู่บนเรือก็เป็นที่เอกชนก็ต้องมีการประกาศเพิ่ม ซึ่งเป็นอำนาจของผู้รักษาการของพ.ร.บ.นั้นๆ คือท่านนายกรัฐมนตรี แต่จะมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเห็นด้วยว่า ควรประกาศเพิ่ม เนื่องจากเราไม่ได้ตรวจทั่วไป ต้องมีเหตุจึงจำเป็นตรวจ อย่างตอนนี้แม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชอบการล่องเรือมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ ก็มีการพูดคุยว่า ก่อนสงกรานต์ควรมีการไปตรวจสอบมาตรกฐานการขับขี่ ขนส่งสาธารณะต่างๆด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

“กรณีการดำเนินคดีจริงๆ เครื่องเป่าที่ได้มาตรฐานก็สามารถบอกได้เลยว่า มีแอลกอฮอล์เท่าไหร่ สามารถนำไปใช้ดำเนินคดีได้ เว้นผู้เกิดอุบัติเหตุไม่สามารถอยู่ในสถานะเป่าแอลกอฮออล์ ก็นำเลือดไปตรวจได้ ส่วนคนปฏิเสธ.การเป่าก็เป่าไม่ได้ เจ้าหน้าที่สามารถสันนิษฐานว่าเมา ส่วนเมื่อมีการสอบสวน หรือพิจารณาแล้วไม่เกินมาตรฐานก็จะเป็นขั้นตอนต่อไป” นายสาธิต กล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: