งบเคลียร์จรรยาบรรณครูพุ่ง100ล้าน 1.2พันคดีตกค้าง-รอคิวตัดสินนาน16ปี





นายเอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกมว.เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เห็นชอบในหลักการตามที่คุรุสภา เสนอแก้ไขปรับปรุง ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยจัดทำร่าง ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. ….เพื่อให้การดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพมีความสอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากข้อบังคับเดิมทำให้การพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณมีความล่าช้า และต่อ1รายได้งบประมาณในการดำเนินการกว่า 1 แสนบาท เพราะฉะนั้นถ้าไม่ปรับปรุงกระบวนการให้กระชับ ลดขั้นตอน สามารถนำผลที่มีการพิจารณาชัดเจนแล้วมาดำเนินการต่อได้โดยเร็ว ก็จะทำให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากการดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ พบว่า มีคดีจรรยาบรรณของวิชาชีพที่รับไว้ดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2549 – ปัจจุบัน รวมจำนวน 1,794 คดี และยังมีจำนวนคดีที่รอการดำเนินการอยู่ 1,279 คดี หากใช้งบดำเนินการรายละ 1 แสนบาท จะใช้เงินกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้นจึงจะเร่งดำเนินการยกร่างให้มีความกระชับ ชัดเจน มากยิ่งขึ้น หลักการเบื้องต้น ผู้ที่ทำผิดจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิด อนาจาร ที่มีหลักฐานชัดเจนให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ทันที จนกว่าการพิจารณาจะเสร็จสิ้น เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบตามที่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ เสนอร่าง ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย พ.ศ. …. ซึ่งผ่านการพิจารณา ซึ่งได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจากนี้สำนักงานคุรุสภาจะต้องไปดำเนินการออกข้อบังคับกำหนดมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัยได้ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2556 ร่วมถึงเร่งดำเนินการยกร่าง ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูการศึกษาพิเศษ พ.ศ…ต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือกรณีครูที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราว ซึ่งต่อครั้งละ 2 ปี ขอต่อมาแล้ว 2 ครั้งขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ในระบบ 1.2 หมื่นราย อย่างไรก็ตามครูเหล่านี้ถือว่ามีประสบการณ์สอน ดังนั้นจึงมีผู้เสนอว่า ให้มีการจัดอบรมเพื่อช่วยเหลือให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยที่ประชุมได้หารือเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งเห็นว่า ควรลดการอบรม แต่ให้เน้นเรื่องการพัฒนาสมรรถนะในด้านต่างๆ ที่ควรจะต้องมี เช่น สมรรถนะการพัฒนาเด็ก เป็นต้น และควรให้สถาบันผลิตครูที่มีคุณสมบัติเข้าไปประเมินบุคคลเหล่านี้ เพื่อเข้ารับใบอนุญาตฯต่อไป หากดำเนินการเช่นนี้จะป้องกันไม่ให้เกิดธุรกิจการอบรมขึ้นด้วย

“ที่ประชุมยังหารือ กรณีที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศ ยกเลิกกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (มคอ.1) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นั้น เร็ว ๆ นี้ทางกมว.จะเชิญคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มาหารือปรับปรุมมาตรฐานคุณวุฒิฯ สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ที่ อว.กำหนด ซึ่งจะเน้นที่ผลลัพธ์ของผู้สำเร็จการศึกษาทั้งความรู้ คุณธรรมจริยธรรม และคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ของบัณฑิต ทั้งนี้โดยหลักการสถาบันผู้ผลิตจะต้องเร่งปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับมอค.ใหม่ ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม เพื่อเสอนให้อว.รับรอง ก่อนนำไปใช้อย่างเป็นทางการ ส่วนการรับรองเพื่อใช้ในการสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จากทางคุรุสภานั้น ก็จะต้องปรับให้สอดคล้องแนวทางของมอค.ใหม่เช่นกัน โดยจากเดิมที่จะต้องรับรองก่อนใช้หลักสูตร มาเป็นรับรองหลังการผลิต เนื่องจามาตรฐานฯ ใหม่ เน้นผลลัพธ์ของผู้เรียนดังนั้นจึงต้องให้สถาบันผู้ผลิตได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนก่อนระยะหนึ่ง เพื่อให้เห็นกระบวนการและผลลัพธ์ของบัณฑิตย์ที่จะจบออกมาได้ชัดเจน โดยอาจจะไปรับรองในช่วงปี 2 หรือปี3 ของผู้เรียน “นายเอกชัยกล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: