นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันการซื้อขายรถมือสองทำได้ง่ายขึ้นและมีหลายช่องทาง ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดการซื้อขาย มีการพัฒนาเทคโนโลยี การซื้อขายผ่านแอปพลิเคชัน หรือการลงประกาศซื้อขายผ่านเพจโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
อย่าโอนลอย ตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนซื้อ
กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเป็นห่วงและเตือนประชาชน ที่ต้องการซื้อขายรถมือสอง ไม่ควรซื้อขายรถด้วยวิธีการ ‘โอนลอย’ โดยเซ็นเอกสารไว้แล้วมาดำเนินการในภายหลัง เนื่องจากอาจก่อปัญหาให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
เช่น กรณีผู้ซื้อไม่ดำเนินการชำระภาษีรถประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือนำรถไปกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งยังคงปรากฏชื่อเจ้าของรถรายเดิมในระบบทะเบียน สร้างปัญหายุ่งยากให้เจ้าของรถรายเดิม
นอกจากนี้ การไม่นำรถเข้ามาดำเนินการโอนทางทะเบียน ยังทำให้ผู้ซื้อไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของรถได้โดยสมบูรณ์ ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่อีกด้วย
นายเสกสม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อขายทุกครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบก่อนตัดสินใจ และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน เพื่อการซื้อขายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะสมุดคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถเลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถต้องถูกต้องตรงกับรถคันที่จะซื้อขายทุกรายการ
และที่สำคัญต้องตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีรถประจำปีครบถ้วนถูกต้อง พร้อมนำรถเข้าตรวจสภาพ และดำเนินการตามขั้นตอนโอนทางทะเบียนรถ ณ สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนด้วยตนเองในทันที
เตรียมให้พร้อม หลักฐานการโอนรถ
โดยหลักฐานการโอนที่ผู้ซื้อผู้ขายที่ต้องเตรียมมาโอนรถ ณ สำนักงานขนส่ง ได้แก่
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือเล่มทะเบียนรถตัวจริง
- สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ
- สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- แบบคำขอโอนและรับโอนที่กรอกรายการและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียนร้อย ในกรณีเป็นนิติบุคคลต้องใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
ข่าวจาก : thebangkokinsight
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ